9 ฐานเรียนรู้
ความรู้ที่น่าสนใจ (Documents on web)
ติดต่อเรา
มูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ
เลขที่ ๑๑๔ ซอย บี ๑๒ หมู่บ้านสัมมากร สะพานสูง กรุงเทพฯ ๑๐๒๔๐
สำนักงาน ๐๒-๗๒๙๔๔๕๖ (แผนที่)
ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติ มาบเอื้อง 038-198643 (แผนที่)
User login
ลิงค์เครือข่าย
ดิน กับการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
มีผู้บริหารของกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ได้มีโอกาสเข้าร่วมการประชุมของเครือข่ายกสิกรรมธรรมชาติ และได้ยอมรับถึงความรู้มากมายจากการประชุม รวมถึงยอมรับว่าไม่เคยตระหนักมาก่อนว่า “ดิน” จะมีความสำคัญกับการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ชนิดที่แยกกันไม่ออกอย่างนี้ และหาก ดิน มีปัญหา ความมั่นคงของมนุษย์ก็มีปัญหาไปด้วย
อันที่จริงปัญหาของการ “ไม่ตระหนัก” นี้เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นทั่วไปของสังคมไทย หากคนไทยส่วนใหญ่ตระหนัก เราคงไม่มาถึงจุดวิกฤติเพียงนี้ ก็เพราะเราส่วนใหญ่ “ไม่เคยตระหนัก” เราถึงต้องมาพบกับทางตัน ซึ่งเป็นวิบากกรรมที่เราสร้างขึ้นมาเอง และในฐานะที่เป็นประเทศ “เกษตรกรรม” การไม่ตระหนักถึงความสำคัญของดิน ในหมู่คนระดับปัญญาชนคนมีการศึกษา ยิ่งสะท้อนถึง มิจฉาทิฐิ ของผู้คนในสังคมอย่างไม่น่าให้อภัย
เกษตรกรรมคือที่มาของการอยู่ดีกินดีของคนส่วนใหญ่ของประเทศ ซึ่งต้องอาศัย “ดิน” เป็นพื้นฐาน หากดินถูกทำลาย การอยู่ดีกินดีของคนส่วนใหญ่ก็ถูกทำลายไปด้วย เมื่อการอยู่ดีกินดีของคนส่วนใหญ่ถูกทำลาย การเอ่ยอ้างถึงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ก็หมดความหมาย นี่เป็นตรรกะ ง่ายๆ แต่สะท้อนความจริงที่ชัดเจนยากที่ใครจะปฏิเสธ จึงไม่น่าแปลกใจว่า ตั้งแต่แผนพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจแห่งชาติฉบับที่ 1 ซึ่งเริ่มตั้งแต่ปี 2504 จนถึงแผน 10 ในปัจจุบัน ที่ “ดิน” ถูกทำลายไปเรื่อยๆ ด้วยสารพิษนานาชนิด สังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ก็เสื่อมถอย และมีปัญหารุนแรงไม่แพ้อะไรกับสภาพ ดิน ที่อยู่ในอาการ “โคม่า”
การดูแลพระแม่ธรณีโดยใช้หลัก “เลี้ยงดินเพื่อให้ดินเลี้ยงพืช” ของเกษตรกรเครือข่ายกสิกรรมธรรมชาติร่วมแสนชีวิต จึงเป็นภารกิจที่สำคัญในการร่วมพัฒนาสังคมและสร้างความมั่นคงของมนุษย์ให้ดำเนินต่อไปอย่าง “ยั่งยืน” จะด้วยรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม ขณะนี้เป็นที่ประจักษ์ชัดเจนแล้วว่าเมื่อ ดินเสื่อม ระบบนิเวศเสื่อม การผลิตอาหารจึงเป็นปัญหา โลกกำลังขาดอาหาร มนุษย์จะมั่นคงได้อย่างไรในเมื่อมนุษย์กำลังจะ “ไม่มีอะไรจะกิน” การแก้ปัญหาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จึงไม่สามารถแยกเป็นส่วนๆ มองปัญหาเฉพาะมิติของสังคมได้ แต่จะต้องมองปัญหาอย่าง “องค์รวม” ไปถึงดิน น้ำ ป่า อากาศ อันเป็นองค์ประกอบพื้นฐานของธรรมชาติ เพราะความอยู่รอดของมนุษย์ต้องพึ่งพาพื้นฐานธรรมชาติเหล่านี้ ธรรมชาติคือ “องค์รวม” ของ ดิน น้ำ ป่า อากาศ คน แยกกันไม่ออก เมื่อมนุษย์คิดแยกตนเองออกมา ปัญหาก็เกิด การแก้ปัญหามนุษย์จึงต้องกลับมาแก้ปัญหา ดิน น้ำ ป่า อากาศ ให้ได้เสียก่อน
แต่ดูเหมือนว่ามีเพียงคนจำนวนน้อยนิดที่ตระหนักถึงความสัมพันธ์ของมนุษย์กับธรรมชาติที่แนบแน่นเช่นนี้ ผู้คนส่วนใหญ่ของสังคมยังจมอยู่ใน โมหะภูมิ มี มิจฉาทิฐิ เป็นม่านบังตาไม่เห็นความสัมพันธ์ของธรรมชาติกับมนุษย์ ความขาดแคลนอาหารของโลกที่กำลังจะเป็นวิกฤติสะท้อน ความจริงที่ว่า “โลภแล้วจน” อย่างไม่มีข้อกังขา โลกจะเพิ่งตระหนักและเรียกร้องอาหาร “เกษตรอินทรีย์” เพราะเกษตรอินทรีย์คือการดูแลพระแม่ธรณีให้อุดมสมบูรณ์ปราศจากสารพิษ ไม่ใส่ปุ๋ยเคมี ไม่ใช้สารพิษฆ่าหญ้า ฆ่าแมลง เพื่อให้ดินสามารถเลี้ยงดูพืชพรรณธัญญาหารให้ปลอดภัยสำหรับมนุษย์ต่อไป
แปลกแต่จริง ในขณะที่ “เกษตรอินทรีย์” ได้รับการประกาศให้เป็น “วาระแห่งชาติ” จากกระทรวงเกษตรฯ เพราะตระหนักแล้วถึงความสำคัญของ “ดินสะอาด” แต่กระทรวงทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมกลับยุยงส่งเสริมให้ชาวบ้านปลูกยูคาลิปตัส ไม้ต่างถิ่นที่ได้ชื่อว่า ทำลาย “ดิน” ได้อย่างมหัศจรรย์พันลึก แถมยังร่างกฎหมายให้เปลี่ยนป่าเสื่อมโทรมเนื้อที่เป็นแสนๆ ไร่ มาเป็นป่ายูคา แทนที่จะปลูกป่าธรรมชาติเพื่อสร้าง “ป่า” กลับคืนสู่ธรรมชาติ เมื่อเป็นเช่นนี้ อยากถามกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ว่า จะยืนข้างกระทรวงเกษตรฯ หนุนวาระแห่งชาติเกษตรอินทรีย์ หรือจะเอียงข้างกระทรวงทรัพย์ฯ ให้ชาวบ้านช่วยกันปลูกยูคา เพื่อความมั่นคงของมนุษย์ กันแน่