9 ฐานเรียนรู้
ความรู้ที่น่าสนใจ (Documents on web)
ติดต่อเรา
มูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ
เลขที่ ๑๑๔ ซอย บี ๑๒ หมู่บ้านสัมมากร สะพานสูง กรุงเทพฯ ๑๐๒๔๐
สำนักงาน ๐๒-๗๒๙๔๔๕๖ (แผนที่)
ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติ มาบเอื้อง 038-198643 (แผนที่)
User login
ลิงค์เครือข่าย
เมื่อเศรษฐกิจพอเพียงคือทางรอดของชีวิต บทเรียนของคนเลี้ยงกุ้ง
เมื่อเศรษฐกิจพอเพียงคือทางรอดของชีวิต บทเรียนของคนเลี้ยงกุ้ง
ขณะที่เขียนต้นฉบับอยู่นี้ อาจารย์ยักษ์กำลังอยู่ท่ามกลางชาวบ้านเกษตรกรที่มีอาชีพเลี้ยงกุ้ง เลี้ยงปลาจากจังหวัดต่างๆ ในภาคกลาง 8 จังหวัด ที่ต่างประสบกับวิกฤติการทำมาหากินจนมีหนี้สินล้นพ้นตัว แต่วันนี้เกิดความเชื่อมั่นว่าเพียงการเปลี่ยนความเชื่อกลับมาใช้วิธีธรรมชาติ และหลักเศรษฐกิจพอเพียงในการดูแลสัตว์น้ำของตน ไม่ยัดเยียด สิ่งที่เป็นพิษ สัมมาอาชีวะในวิถีใหม่ก็จะทำให้ทุกคน รวย ทั้งเงิน และ รวยความสุข
เกษตรกรทั้ง 8 จังหวัดที่ว่า มาจากจังหวัดสมุทรสาคร สมุทรสงคราม สุพรรณบุรี เพชรบุรี ราชบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชัยนาท และนครปฐม เกษตรกรเหล่านี้ครั้งหนึ่งเคยเฟื่องฟู ร่ำรวยจากการเลี้ยงกุ้ง เลี้ยงปลา ตามคำชักชวนของราชการ ซึ่งมักจะมีเซลล์แมนของบริษัทอาหารสัตว์น้ำติดตามไปด้วยพร้อมกับคำแนะนำที่ดูเป็นวิชาการที่น่าเชื่อถือ คำแนะนำทั้งการใช้ปูน การให้อาหารที่ไม่เหมาะสม บวกกับความโลภที่ต้องการรวยทางลัดของเกษตรกร ที่มักจะใส่ลูกกุ้งปริมาณมากเกินไปจนกุ้งแออัด ขาดออกซิเจน น้ำเน่า และในที่สุดก็ตาย ไม่ได้ปริมาณกุ้ง และน้ำหนักตามที่ต้องการ เงินลงทุนไม่คุ้มกับรายได้ ขณะนี้บางคนมีหนี้รวมทั้งต้นและดอกในระดับ 6-7 ล้าน อยู่ในอาการมองไม่เห็นทางออกของชีวิต ดูจะเป็นตัวอย่างคลาสสิคของคำว่า โลภ แล้ว จน ที่เป็นกันทั่วในสังคมไทย วิกฤติที่อยู่ตรงหน้าทำให้ต้องดิ้นรนหาทางออก มองหาหนทางใหม่ๆ
คำว่าเศรษฐกิจพอเพียง อาจจะเป็นคำตอบ จากการเข้าอบรมแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงที่ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติมาบเอื้อง สองสลึง และมหาวิทยาลัยราชภัฎราชนครินทร์ เกษตรกรภาคกลางเหล่านี้เริ่มเห็นทางสว่างของชีวิตว่า เพียงกลับมารู้จักธรรมชาติและเคารพธรรมชาติในวิถีทางทำมาหากินของตนเอง รู้จักคำว่า พอ ก็จะพบกับความ ร่ำรวย ที่มีมากกว่าคำว่า เงิน
หลังจากการอบรมเรื่องการเลี้ยงสัตว์น้ำระบบชีวภาพ ใช้สิ่งมีชีวิตเล็กๆ ตามธรรมชาติที่เราเรียกว่า จุลินทรีย์ ให้ทำหน้าที่ของมันเต็มศักยภาพในการช่วยบำบัดน้ำ ช่วยสร้างไรแดงซึ่งเป็นอาหารชั้นยอดของสัตว์น้ำ เพียงแค่นี้อาหารสัตว์ที่นำเสนอโดยเซลล์แมนก็เป็นสิ่งไม่จำเป็นอีกต่อไป เพียงการลงมือทดลองในเนื้อที่ 2 ไร่ต่อปริมาณลูกกุ้ง 30,000 ตัว จากเดิมที่เคยลงถึง 100,000 ตัว ซึ่งลดความแออัด มีปริมาณออกซิเจนมากกว่าเดิม และมีไรแดงจำนวนมากที่สร้างจากจุลินทรีย์เป็นอาหารธรรมชาติ ผลของการใช้หลักธรรมชาติ นอกจากน้ำจะไม่เน่าเสีย ไม่มีกลิ่นเหม็นแล้ว ปริมาณการรอดของกุ้งเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ ระยะเวลาเลี้ยงเพียง 2 เดือนในเนื้อที่บ่อเพียง 2 ไร่สามารถให้ผลผลิตเกษตรกรถึง 1150 กิโลกรัม จากเดิมที่การลงทุนทุก 1 บาทถ้าโชคดีไม่ขาดทุนเสียก่อน ก็จะได้กำไรประมาณ 50 สตางค์ แต่ระบบชีวภาพทำกำไรถึง 3 บาท ไม่เพียงเกษตรกรกุ้งที่ได้รับประโยชน์ เกษตรกรที่เลี้ยงปลาสลิด บ้านแพ้ว จังหวัดสมุทรสาครก็ได้รับประโยชน์จากระบบชีวภาพเช่นเดียวกัน ทุกๆ 25 วันจากการเพาะลูกปลา เกษตรกรสามารถเพิ่มกำไรจากเดิมอย่างน้อยเท่าตัว ที่เคยเลี้ยงลูกปลาได้เพียง 200,000 ตัวต่อ 3 ไร่ ระบบชีวภาพใหม่ที่ใช้เพิ่มปริมาณลูกปลาถึง 400,000 ตัวเป็นอย่างน้อย
ขณะนี้นอกจากวิกฤติจะถูกเปลี่ยนให้เป็นโอกาสแล้ว เกษตรกรเหล่านี้ยังเชื่อมั่นว่า พวกเขาจะไม่มีทางกลับไปสู่วงเวียนชีวิตแบบเก่าที่ใช้ชีวิตหรูหราฟุ่มเฟือยยามมี และตกอยู่ในสภาพหนี้สินล้นพ้นตัวยามจน แต่จะดำเนินชีวิตที่รู้คุณค่าแห่งการพึ่งตนเอง รู้จักการให้ รู้จักการแบ่งปัน บนฐาน ความรู้ คุณธรรมของความขยัน ซื่อสัตย์ อดทน ตามแนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของ พ่อ เป็นเทียนส่องนำชีวิต ชีวิตจริงของเกษตรกรเหล่านี้สอนให้รู้ถึงสัจธรรมของคำว่า “โลภ แล้ว จน” “พอ แล้ว รวย”