9 ฐานเรียนรู้
ความรู้ที่น่าสนใจ (Documents on web)
ติดต่อเรา
มูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ
เลขที่ ๑๑๔ ซอย บี ๑๒ หมู่บ้านสัมมากร สะพานสูง กรุงเทพฯ ๑๐๒๔๐
สำนักงาน ๐๒-๗๒๙๔๔๕๖ (แผนที่)
ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติ มาบเอื้อง 038-198643 (แผนที่)
User login
ลิงค์เครือข่าย
เอานคราแห่งความพอเพียงคืนมา เอาโลกาภิวัตน์คืนไป
เอานคราแห่งความพอเพียงคืนมา เอาโลกาภิวัตน์คืนไป
หากถามว่าหน้าตาของประเทศไทยเมื่อ 50 ปีที่แล้วเป็นอย่างไร ก่อนที่เราจะใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 1 ตามคำแนะนำของฝรั่งอเมริกัน บรรดาท่าน สว. (สูงวัย) ทั้งหลายที่มีอายุเกิน 50 ก็คงตอบอย่างไม่ต้องคิดว่า “ประเทศไทยอุดมสมบูรณ์ มั่งคั่งด้วยทรัพย์ในดิน สินในน้ำ เป็นเมืองอู่ข้าวอู่น้ำ ในน้ำมีปลาในนามีข้าว ข้าวปลาอาหารอุดมสมบูรณ์ ป่าไม้เขียวชอุ่มปกคลุมทั่วปฐพีไทย” แม้แต่คนจีนที่อพยพหนีความยากจนจากประเทศตนเอง เพียงแค่เห็นฝั่งที่มีต้นไม้ใบหญ้าเขียวขจีของประเทศไทย ก็รู้ว่า “เรารอดตายแล้ว” องค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงมีสายพระเนตรยาวไกล เคยพระราชทานให้สัมภาษณ์นักข่าวต่างประเทศในปี 2525 ว่า
“ประเทศของเราเป็นประเทศที่มั่งคั่ง อุดมสมบูรณ์ และอยู่ในจุดยุทธศาสตร์ หากมีการต่อสู้ แย่งชิงเกิดขึ้นในโลก ใครๆ ก็อยากได้ประเทศนี้ และโลกก็มักจะมีการต่อสู้แย่งชิงกันอยู่เสมอๆ (ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นก็ตาม) ประเทศของเราจะยังคงยืนอยู่ที่นี่ จะยืนหยัดอยู่ที่นี่เพื่อประโยชน์ของคนทั้งโลก”
พระองค์ท่านทรงทราบดีว่าอะไรกำลังจะเกิดขึ้นกับประเทศไทย ท่ามกลางกระแสโลกาภิวัตน์ที่ถาโถมเข้าสู่ประเทศไทย หลังจาก 50 ปีผ่านไป เมื่อเราย่างเข้าสู่แผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติและสังคมฉบับที่ 10 ตามแผนการที่จะทำให้ประเทศไทยเปลี่ยนสภาพเป็นประเทศ พัฒนา ร่ำรวย และศิวิไลซ์ ในความหมายของฝรั่ง เราลองมาดูว่าหน้าตาของประเทศไทยหลังจากการพัฒนามา 50 ปี ว่าหน้าตาของฐานทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างไร ข้อสรุปข้างล่างนี้ระบุอยู่ในเอกสารของแผนฉบับที่ 10 ดังนี้
น้ำ: ขาดแคลนและคุณภาพน้ำเสื่อมโทรม ปริมาณน้ำที่เก็บกักได้มีไม่เพียงพอกับความต้องการใช้น้ำ เกิดสภาพความขัดแย้งจากการแย่งชิงน้ำในยามขาดแคลน ระหว่างภาคการผลิตต่าง ๆ รวมทั้งระหว่างเมืองและชนบท การสูญเสียเนื้อที่ป่าต้นน้ำอย่างต่อเนื่อง ทำให้เกิดปัญหาน้ำท่วมในฤดูฝนและขาดแคลนน้ำในฤดูแล้ง สำหรับคุณภาพน้ำอยู่ในสภาพที่เสื่อมโทรมมาก ระบบบำบัดน้ำเสียสามารถบำบัดน้ำเสียได้เพียงร้อยละ 25
ดิน: ดินเสื่อมโทรมและมีปัญหาในเรื่องการถือครองกรรมสิทธิ์ ทรัพยากรดินมีสภาพเสื่อมโทรมจากการใช้ดินที่ไม่ถูกต้องตามศักยภาพ ก่อให้เกิด การชะล้างพังทลายของดิน ดินขาดอินทรีย์ ดินเค็ม ดินเปรี้ยว ดินมีปัญหาเพิ่มขึ้นจาก 182.1 ล้านไร่ เป็น 192.7 ล้านไร่คิดเป็น 60% ของพื้นที่ทั้งหมด
ป่าไม้: พื้นที่ป่าไม้ถูกทำลายจนระบบนิเวศเสียสมดุล ช่วง 40 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยสูญเสียพื้นที่ป่าไปแล้ว 67 ล้านไร่ ปัจจุบัน พื้นที่ป่ามีไม่ถึงร้อยละ 40 ซึ่งจะเป็นระดับที่จะรักษาสมดุลของระบบนิเวศและเป็นฐานการพัฒนาที่ยั่งยืนได้ (จากป่าที่เคยมีถึง 70% ปัจจุบันเหลือเพียง 17%)
ความหลากหลายทางชีวภาพ: ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีความหลากหลายทางชีวภาพสูงมากอยู่ในระดับต้นๆ ของโลก แต่ทรัพยากรความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศกำลังถูกทำลายอย่างรวดเร็ว ซึ่งมีสาเหตุมาจากการดำเนินกิจกรรมของมนุษย์ที่ส่งผลกระทบก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศ ไทยมีพันธุ์สัตว์ที่สูญพันธุ์ไปแล้วถึง 14 ชนิด และอยู่ในบัญชีรายชื่อสัตว์ และพันธุ์พืชที่ใกล้สูญพันธุ์อีก 684 ชนิด
ทรัพยากรทางทะเลชายฝั่ง: พื้นที่ทางชายฝั่งได้รับผลกระทบจากการขยายกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ทรัพยากรประมงเสื่อมโทรม อัตราการจับสัตว์น้ำลดลงถึง 3 เท่า ปัจจุบันพื้นที่ป่าชายเลนลดลงจาก 2.05 ล้านไร่ เหลือเพียง 1.5 ล้านไร่ และครึ่งหนึ่งอยู่ในสภาพเสื่อมโทรม นี่คือบทสรุปหน้าตาประเทศไทยในแผน 10 สำหรับ “ฅน” ที่แม้จะมีหยักบนสมองเพียงหยักเดียวก็ตอบได้อย่างไม่ลังเลว่า ณ วันนี้ ประเทศไทย “รวยขึ้น” หรือ “จนลง”
คำถามอยู่ที่ว่าเราจะเอา “นคราแห่งความพอเพียง” ของเราคืนมาได้อย่างไร ติดตามกันในฉบับหน้า