9 ฐานเรียนรู้
ความรู้ที่น่าสนใจ (Documents on web)
ติดต่อเรา
มูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ
เลขที่ ๑๑๔ ซอย บี ๑๒ หมู่บ้านสัมมากร สะพานสูง กรุงเทพฯ ๑๐๒๔๐
สำนักงาน ๐๒-๗๒๙๔๔๕๖ (แผนที่)
ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติ มาบเอื้อง 038-198643 (แผนที่)
User login
ลิงค์เครือข่าย
อุดมการณ์เศรษฐกิจพอเพียง 2
อุดมการณ์เศรษฐกิจพอเพียง 2
ฉบับที่แล้วเราพูดถึงความล้มเหลวในการแก้ปัญหาความยากจนที่มีกลไกลรัฐ และ กลไกเศรษฐกิจข้ามชาติเป็นสาเหตุหลักโดยทำการร่วมกันในการ “ล้างสมอง” เกษตรกรให้เชื่อว่า เกษตรเชิงเดี่ยว ปุ๋ยเคมี ยาฆ่าหญ้า ยาฆ่าแมลง จะนำมาซึ่งความมั่งคั่ง สมบูรณ์พูนสุขมาให้กับคนส่วนใหญ่ของประเทศ แต่สิ่งที่เกิดขึ้น คือ ภาพตรงกันข้าม ผู้คนส่วนใหญ่กลับยากจนค่นแค้นลง ซึ่งเมื่อวิเคราะห์กันแล้วก็ไม่น่าแปลกใจว่าทำไมเกษตรกรจึงยากจนลง เพราะวัฒนธรรมการเกษตรใหม่ที่เรียกขานกันว่า เกษตรก้าวหน้า เกษตรทันสมัย เป็นเกษตรที่ทำลายฐานทรัพยากรที่สำคัญที่สุดของประเทศ คือ ป่า โดยการใช้เกษตรเชิงเดี่ยว ที่ต้องโค่น บุกรุกพื้นที่ป่าจำนวนมาก เกษตรแนวใหม่ ที่กลไกของรัฐทำหน้าที่ส่งเสริมแบบสุดจิตสุดใจ ตามด้วยการสนับสนุนจากภาควิชาการให้เชื่อว่า ปุ๋ยเคมีที่มีองค์ประกอบ NPK คืออาหารที่สำคัญที่สุดของพืช หากพืชเกิดโรค มีแมลงก็ต้องใช้ยาฆ่าหญ้า ยาฆ่าแมลง ทุกอย่างล้วนต้องพึ่งพาสารเคมีจากบริษัทข้ามชาติ ความร่ำรวยของเกษตรกรในอดีตค่อยๆ ถูกดูดกลืนไปกระจุกตัวอยู่กับทุนต่างชาติ สุดท้าย ความยากจนไม่เพียงแต่จะเป็นสัญลักษณ์ถาวร คู่กับเกษตรกรไทย ความยากจนก็กำลังคืบคลานไปอยู่ในภาคส่วนอื่นๆ ของสังคมด้วย เพราะทรัพยากร ป่า ดิน น้ำ อากาศกำลังถูกทำลายลงอย่างยากที่จะเอากลับคืนมาได้
การแก้ปัญหาความยากจนแบบเบ็ดเสร็จและถาวร ก็ต้องใช้วิธีการเดียวกัน คือ “ล้างสมอง” ให้คนส่วนใหญ่ หันกลับมาเชื่อในสิ่งที่ถูกต้อง หันกลับมาทำในสิ่งที่ถูกต้อง ชี้ให้ผู้คนส่วนใหญ่เห็นว่าทางที่กำลังเดินอยู่เป็นทางนำพาไปสู่หายนะ ความยากจน ความทุกข์ อย่างแน่นอน 50 ปีมานี้กลไกรัฐทั้งระบบร่วมกันสร้าง อุดมการณ์เศรษฐกิจตาโต ผ่านระบบการศึกษาทั้งในระบบและนอกระบบ ผ่านแผนพัฒนาประเทศ ช่วยกันตีปี๊บให้ผู้คนหลงเชื่อว่า อุดมการณ์เศรษฐกิจทุนนิยม คือที่มาของความทันสมัย และความศิวิไลซ์ มีการแยกประเทศออกเป็น พัฒนา และ ด้อยพัฒนา หากต้องการหลุดออกจากคำนิยามว่าเป็น ประเทศด้อยพัฒนาก็ต้องเดินตามกฎกติกาที่ประเทศพัฒนาแล้วได้วางไว้ โดยหารู้ไม่ว่าเรากำลังเดินไปสู่ “หลุมพราง” และตกเป็น “เมืองขึ้น” ทางความคิดอย่างไม่รู้ตัว
การสร้างอุดมการณ์เศรษฐกิจพอเพียงก็ต้องใช้วิธีการ หนามยอกเอาหนามบ่ง คือใช้วิธีการเปลี่ยนระบบความเชื่อ โดยผ่านระบบการศึกษาทั้งในระบบ และ นอกระบบเช่นเดียวกัน ต้องทำให้ อุดมการณ์เศรษฐกิจพอเพียง ที่เน้นเดินสายกลาง พึ่งตนเอง รู้แก่นสาร รู้เหตุผล รู้จักเลือกในสิ่งที่เหมาะกับตน รู้จักสร้างภูมคุ้มกัน ที่สำคัญยึดมั่นในคุณธรรม ความดี มากกว่า เงินตรา ยึดประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าส่วนตน ให้วิธีคิดทั้งหมดนี้เป็นระบบความเชื่อของคนทั้งสังคม จากความคิด ความเชื่อมาเป็นคำพูด การกระทำ เป็นวิถีชีวิต และเป็นวัฒนธรรมในที่สุด
คำถามอยู่ที่ว่าจะทำให้อุดมการณ์เศรษฐกิจพอเพียงเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและในระยะเวลาสั้นๆ ได้อย่างไร คำตอบคือในระยะเวลาสั้นๆ เพียง 6 เดือนรูปธรรมของอุดมการณ์เศรษฐกิจพอเพียงก็คงยังไม่เกิด แต่สิ่งสำคัญคือการวางรากฐาน ทำทิฐิให้ตรง ถ้ารากฐานมั่นคง ทิฐิตรง ก็จะทำให้อุดมการณ์เศรษฐกิจพอเพียงสามารถเติบโตเป็นวิถีวัฒนธรรมของสังคมได้อย่างมั่นคง ยั่งยืน
คนที่อยู่ในวัย 50 คงจำหนังที่ชื่อ “ไฟเย็น” ที่สามารถปลุกระดมคนไทยทั้งประเทศให้เกลียดชังลัทธิ คอมมิวนิสต์ได้ โดยที่ประชาชนคนไทยก็ไม่รู้ว่า คอมมิวนิสต์คืออะไร รู้เพียงว่า คอมมิวนิสต์ เป็นสิ่งน่าเกลียด น่ากลัวมาก สหรัฐอเมริกาประสบความสำเร็จอย่างสูงในการทำให้คนไทย เกลียดคอมมิวนิสต์ และรักสหรัฐฯ โดยอาศัยสื่อทุกรูปแบบ รวมทั้งกลไกด้านกฎหมาย
ในการสร้าง “ไฟเย็น” ฉบับเศรษฐกิจพอเพียงก็เช่นเดียวกัน การศึกษาทั้งระบบ สื่อทุกรูปแบบต้องพุ่งเป้าไปที่การรณรงค์ให้คนเกลียดชัง คนขี้งก ขี้โลภ ขี้โกง คนชั่ว และยกย่องคนดี คนมีวิถีพอเพียงให้เป็นวีรบุรุษของสังคม ในแง่ของการใช้กลไกรัฐ คงมีเพียงอย่างเดียวที่ทำได้ในขณะนี้ คือ การใช้ความกล้าหาญ กล้าปฏิวัติ กลไกรัฐ ให้เกิดประสิทธิภาพให้ได้ กล้าให้คุณ และให้โทษ ถึงเวลาที่รัฐบาลต้องใช้อำนาจที่ได้มาจากความกล้าในการทำปฏิวัติรัฐประหารอีกครั้งเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติ หวังว่าดอกไม้ที่ประชาชนมอบให้ท่านในครานั้น ยังเป็นดอกไม้แห่งความหวัง และเป็นดอกไม้แห่งความกล้า ในการกำจัดความชั่วที่หยั่งรากลึกอยู่ในระบบกลไกรัฐ ให้ออกไปจากสังคมไทยอย่างเบ็ดเสร็จและถาวร
ถ้าอยากรู้ว่าจะกำจัดความชั่วที่หยั่งรากลึกอยู่ในระบบกลไกรัฐนี้ได้อย่างเบ็ดเสร็จและถาวรอย่างไร อาจารย์ยักษ์จะกระซิบให้