9 ฐานเรียนรู้
ความรู้ที่น่าสนใจ (Documents on web)
ติดต่อเรา
มูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ
เลขที่ ๑๑๔ ซอย บี ๑๒ หมู่บ้านสัมมากร สะพานสูง กรุงเทพฯ ๑๐๒๔๐
สำนักงาน ๐๒-๗๒๙๔๔๕๖ (แผนที่)
ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติ มาบเอื้อง 038-198643 (แผนที่)
User login
ลิงค์เครือข่าย
พลังฝ่ามือ
พลังฝ่ามือ
อย่าเพิ่งเข้าใจผิดว่าอาจารย์ยักษ์แห่งมหาลัยคอกหมูกำลังจะพูดถึงหนังกำลังภายในประเภท ฝ่ามือพิฆาต อะไรทำนองนั้น ที่อยากชี้ชวนให้มาลองพิจารณาว่าพลังที่ออกมาจากฝ่ามือของเรานั้น มีส่วนละม้ายคล้ายคลึงกับพลังของสังคม ที่ต้องมาจากความร่วมมือของภาคส่วนต่างๆ 5 ภาคส่วน หรือที่เราเรียกกันคุ้นหูว่า 5 ภาคีอย่างไร
ในฐานะที่เราเป็นมนุษย์ที่มีอวัยวะครบ 32 เราเคยถามตัวเองไหมว่า มือที่ประกอบด้วยนิ้ว 5 นิ้วนั้น ทำไมนิ้วแต่ละนิ้วจึงไม่เหมือนกัน และไม่เสมอกัน หากเรามีนิ้วที่มีลักษณะที่เหมือนกันและยาวเสมอกัน จะเกิดอะไรขึ้นกับการใช้งาน การจับ การออกแรง การยึด การกด ฯลฯ ดูเหมือนธรรมชาติได้ออกแบบสรีระของมนุษย์มาให้เหมาะสมกับการใช้งาน เพื่อการดำรงชีวิต การทำมาหากินของมนุษย์ ที่ต้องมีมือเป็นอุปกรณ์สำคัญ ลองดูรูปธรรมง่ายๆ แค่การหยิบจับ เราใช้ความสั้นของนิ้วหัวแม่มือร่วมกับความยาวของนิ้วชี้ในการหยิบของ ลองใช้ความยาวที่เกือบจะเสมอกันของนิ้วกลางและนิ้วนางในการหยิบของดูสิว่ายากลำบากขนาดไหน หรือ นิ้วหัวแม่มือหยิบของร่วมกับนิ้วก้อย การใช้นิ้วที่ไม่เหมาะสมกับหน้าที่ก็จะทำให้ภารกิจนั้นแทบเป็นไปไม่ได้
แนวคิด พลังฝ่ามือ ของสังคมก็ไม่หลีกหนีกฎธรรมชาติข้อนี้เช่นกัน เมื่อมนุษย์อยู่รวมกันเป็นสังคม เป็นวัฒนธรรม เพื่อความอยู่เย็นเป็นสุข และดำรงชีวิตทางเศรษฐกิจได้อย่างราบรื่น มนุษย์ในกลุ่มต่างๆ ก็ต้องมีบทบาท สิทธิ และหน้าที่ทางสังคมที่แตกต่างกัน เหมือนกับนิ้ว 5 นิ้ว ที่มีบทบาทของตัวเองในแต่ละมิติ แต่เมื่อไรที่ต้องการพลังขับเคลื่อน การออกแรงเพื่อให้เกิดการเคลื่อนไหวผลักดันก็ต้องอาศัยนิ้วทั้ง 5 ประสานพลังกัน
ถ้า 5 ภาคี ที่ภาครัฐ ราชการที่ใหญ่โต มีกำลัง มีเงิน เปรียบเสมือนหัวแม่มือ นิ้วชี้ก็คงจะเปรียบได้กับผู้นำทางความคิดของสังคมซึ่งควรจะเป็นบทบาทหน้าที่ของสถาบันการศึกษาหรือมหาวิทยาลัย ส่วนแกนกลางที่ยาวสุดคือนิ้วกลาง เปรียบได้กับประชาชน มีภาคเอกชนที่เป็นแรงหนุนเหมือนนิ้วนางที่อยู่ขนาบข้าง ส่วนนิ้วก้อยดูเหมือนเล็กไม่ค่อยมีความสำคัญ แต่รู้ไหมว่า นิ้วก้อยเป็นนิ้วแห่งคำมั่นสัญญา เป็นนิ้วที่ทำหน้าที่เชื่อมประสานซึ่งก็เปรียบเสมือนกับภาคประชาสังคม-สื่อ ซึ่งคงความเป็นกลาง เป็นตัวเชื่อมตัวสะท้อนความเป็นไปของสังคม พลังขนาดขับเคลื่อนภูเขาได้ ไม่อาจจะเกิดจากนิ้วใดนิ้วหนึ่งเพียงนิ้วเดียวจำเป็นต้องประสานจากนิ้วทั้ง 5
เราปฏิเสธไม่ได้เลยว่า วิกฤตที่ประเทศเผชิญอยู่ในขณะนี้ หนักหนาสาหัสสากรรจ์ที่ลำพังภาครัฐเพียงภาคีเดียวไม่อาจรับมืออยู่ ขนาดของปัญหาและระดับความรุนแรงมันเกินขีดพลังความสามารถของหัวแม่มือเพียงนิ้วเดียวจะต้านทานได้ ทั้งปัญหาระบบนิเวศน์ทั้งระบบที่กำลังพังทลายจนไม่สามารถสร้างภูมิคุ้มกันตนเองในการรับมือกับภัยพิบัติทางธรรมชาติได้อีกต่อไป ระบบสังคมที่เสื่อมโทรมถึงขีดสุด ระบบเศรษฐกิจที่อยู่ในห้องไอซียู อาการกำลังโคม่า ระบบการเมืองที่เหมือนคลองแสนแสบ เน่าเหม็น ใครๆ ก็อยากเบือนหน้าหนี ระบบการศึกษาที่มีอาการเหมือนหมอกควันพิษในภาคเหนือ ใครสูดดมเข้าไปก็ต้องสำลักพิษ
อาจารย์ยักษ์กำลังมองโลกในแง่ร้ายหรือเปล่า? เปล่าเลย ที่พูดมาทั้งหมดใครปฏิเสธได้บ้างว่าไม่จริง อาจารย์ยักษ์ไม่ใช่คนมองโลกในแง่ร้าย และไม่ใช่คนปากร้าย เพียงแต่เป็นคน ปากชัด พูดอะไรชัดๆ ตรงๆ ไม่ต้องอ้อมค้อม และที่สำคัญไม่ใช่พวก NATO (No Action Talk Only) แต่กำลังแสดง พลังฝ่ามือ ประสานนิ้วทั้ง 5 ให้ดูว่า ปาฏิหาริย์การแก้วิกฤติเป็นได้จริงจากการประกอบพลังของภาคีทั้ง 5 ที่จังหวัดสระแก้ว ทำให้เป็นโมเดลตัวอย่าง สำหรับการนำไปปฏิบัติต่อในจังหวัดอื่นๆ
นอกจากนี้ตัวอย่างความสำเร็จบนฐานความร่วมมือจาก 5 ภาคีโดยมีปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเป็นหลักยึด ที่สามารถแก้วิกฤติ ก็มีให้เห็นในหลายภาคของประเทศ เช่น ป่าต้นน้ำศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย ตัวอย่างของการฟื้นฟูระบบนิเวศน์ที่สามารถป้องกันและแก้ปัญหา ไฟป่า หมอกควันได้ ทางภาคใต้ ชุมพรคาบาน่า ของภาคเอกชนที่ขณะนี้กำลังเป็นที่ดูงาน เป็นแบบอย่างความสำเร็จของการแก้วิกฤตเศรษฐกิจในธุรกิจการท่องเที่ยว ตัวอย่างที่น่าชื่นชมของการอุ้มชูกันระหว่างภาคธุรกิจ และชุมชน และร่วมกับชุมชนในการรักษาข้าวปะทิว ข้าวพันธุ์ท้องถิ่นแห่งเมืองชุมพร ไกลออกไปถึงต่างประเทศ กรุงไพลิน ประเทศกัมพูชา ก็เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างที่ทางการ ภาคเอกชน ประชาชน วัด โรงเรียน สื่อ ได้เข้ามีบทบาทบนแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงของพระเจ้าอยู่หัวไทย ในภารกิจปกปักรักษาดิน น้ำ ป่า และป้องกันการรุกคืบของเศรษฐกิจทุนนิยม ซึ่งกำลังดูดกลืนกินทรัพยากรของประเทศอย่างรุนแรง และขณะนี้ก็มีเสียงเรียกร้องให้ขยายแนวคิดนี้ไปในพื้นที่อื่นๆ ของประเทศกัมพูชา
ทั้งหมดเป็นพียงตัวอย่างความสำเร็จซึ่งได้พิสูจน์ให้เห็นสัจธรรมของพลังความร่วมมือจาก 5 ภาคส่วนหลักของสังคม แต่หัวใจคือการยึดเอาปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เป็น “ทาง” นำไปสู่ “ประตูทางออก” บนเส้นทางของการแก้วิกฤติ เราได้พิสูจน์แล้วว่าปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เป็นเพียงเส้นทางเดียวของความอยู่รอดของสังคมไทย