9 ฐานเรียนรู้
ความรู้ที่น่าสนใจ (Documents on web)
ติดต่อเรา
มูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ
เลขที่ ๑๑๔ ซอย บี ๑๒ หมู่บ้านสัมมากร สะพานสูง กรุงเทพฯ ๑๐๒๔๐
สำนักงาน ๐๒-๗๒๙๔๔๕๖ (แผนที่)
ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติ มาบเอื้อง 038-198643 (แผนที่)
User login
ลิงค์เครือข่าย
คนรักษ์น้ำ
คน รักษ์ น้ำ
ข่าวคราวที่เกี่ยวกับภัยธรรมชาติ ภัยพิบัติ ดูจะกลายเป็นวิถีชีวิตของคนไทยไปเสียแล้ว คงจำกันได้ว่า อาจารย์ยักษ์ได้เคยกล่าวเตือนตั้งแต่ตอนเปิดคอลัมน์ “พอ แล้ว รวย” ถึงมหันตภัย 4 อย่างที่เราต้องเผชิญอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ภัยธรรมชาติ โรคระบาด ข้าวยากหมากแพง ภัยขัดแย้งจนเป็นสงคราม ทุกวันนี้ยิ่งชัดเจนขึ้นว่าวิถีชีวิตของคนไทยทุกระดับ วนเวียนอยู่กับมหันตภัยทั้ง 4 อย่างนี้ และดูเหมือนยิ่งนานวัน ความรุนแรงของภัยชนิดต่างๆ ก็เพิ่มทวีคูณมากขึ้น นับตั้งแต่ สึนามิ โศกนาฏกรรมธรรมชาติที่คนไทยไม่มีทางลืมเลือน ตามด้วยน้ำท่วมใหญ่ครอบคลุมพื้นที่มากกว่า 40 จังหวัด ตามด้วยไฟป่าทางภาคเหนือที่ก่อเป็นมลพิษทางอากาศเป็นหมอกควันพิษกินพื้นที่หลายจังหวัดนานนับเดือน ซึ่งก็นับเป็นเหตุการณ์ที่หลายคนบอกว่า “เกิดมาก็ไม่เคยเจอ” น้ำตาของพี่น้องชาวไทยที่ต้องประสบกับภัยน้ำท่วมยังไม่ทันเหือดแห้ง รัฐบาลก็ออกมาประกาศให้ผู้คนเตรียมรับมือกับ “ภัยแล้ง” ที่ดูเหมือนจะรุนแรงที่สุด และครอบคลุมพื้นที่มากกว่า 60 จังหวัด บางจังหวัดจะรุนแรงถึงขั้นต้องประกาศให้เป็น “เขตภัยพิบัติ” ดูเหมือนเคราะห์กรรมทางธรรมชาติที่เล่นงานคนไทยยังคงไม่หยุดง่ายๆ แม้กระทั่งผู้คนที่กำลังเล่นน้ำอย่างมีความสุขในช่วงวันหยุดเทศกาลสงกรานต์ก็ต้องมาสังเวยชีวิตไปหลายศพจากน้ำป่าหลาก ดินถล่มเมื่อไม่กี่วันมานี้
สำหรับโรคระบาด ที่สุดอินเทรนด์ในทศวรรษนี้คงไม่มีอะไรเกิน ไข้หวัดนก ที่ขณะนี้ระบาดไปทั่วทุกทวีปในโลก หากภาวะโลกร้อนยังคงดำเนินต่อไป คาดการณ์ได้ว่า จะมีเชื้อโรค โรคระบาดชนิดใหม่ๆ ให้ชาวโลกและคนไทยได้รู้จัก โดยเฉพาะประเทศในแถบร้อนอย่างประเทศไทย ก็จะต้องเผชิญกับเชื้อโรคสายพันธุ์ใหม่ๆ ที่มีอำนาจในการทำลายล้างสูง สำหรับภาวะข้าวยากหมากแพงดูจะไม่ต้องสาธยายมากเพราะเห็นเป็นข่าวอยู่ทุกวัน อาชญากรรมที่เพิ่มสูงขึ้น บ่งบอกถึงภาวะที่คนอดอยาก ไม่มีอะไรกินจนต้องกลายเป็นโจรที่เพิ่มมากขึ้น ภัยพิบัติชนิดสุดท้าย ภัยความขัดแย้งจนกลายเป็นสงครามนั้น ครั้งหนึ่งคนไทยเคยรู้สึกเป็นเรื่องไกลตัวจะได้ยินข่าวก็เฉพาะในตะวันออกกลาง แต่ขณะนี้การรบราฆ่าฟันกันประจำวันในตะวันออกกลางได้เพิ่มสาขา ณ ดินแดนขวานทองนี้เรียบร้อยแล้ว และดูเหมือนจะขยายตัวรุนแรงจนมิอาจทำให้สถานการณ์กลับมาดีดังเดิมได้
มหันตภัยทั้ง 4 อย่างนี้เกี่ยวพันกันอย่างแยกไม่ออก และถ้าวิเคราะห์ให้ดี “ราก” ของภัยที่กล่าวมาทั้งหมด ก็มาจากการที่มนุษย์ไม่รู้จัก “พอ” ซึ่งก็จะเป็นสาเหตุให้มนุษย์ต้อง “จน” ลงอย่างช่วยไม่ได้ เมื่อ “ภูมิคุ้มกัน” ของระบบนิเวศน์แตกสลายลง ความ “มั่งมี” ของมนุษย์ก็เป็นสิ่งที่ไม่ต้องพูดถึงอีกต่อไป
รูปธรรมง่ายๆ ที่เห็นชัดๆ เพียงแค่เราขาด “น้ำ” ความมั่งมี ร่ำรวยของมนุษย์ จะเกิดขึ้นได้อย่างไร สหประชาชาติได้ออกมาเตือนเร็วๆ นี้ว่า ถ้าหากมนุษย์ยังคงพฤติกรรมบริโภคนิยมอย่างไร้เหตุผลเช่นนี้ต่อไป ไม่เกินปี 2050 มนุษย์บนโลกกว่า 130 ล้านคน จะต้องได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากภาวะที่โลกเข้าสู่วิกฤติเรื่อง “น้ำ” และ “การแย่งชิงน้ำ” กำลังจะกลายเป็นความขัดแย้งถึงขั้นสงคราม เราเห็นสงครามแย่งชิงน้ำมันมาแล้ว เราเคยสงสัยไหมว่า ระหว่าง น้ำ กับน้ำมัน อะไร สำคัญกับชีวิต มากกว่ากัน เมื่อถึงคราวที่โลกเข้าขั้นวิกฤติเพราะไม่มี “น้ำ” สงคราม “แย่งชิงน้ำ” จะนำภัยพิบัติ หายนะอย่างไรมาสู่มนุษยชาติ
ประเทศไทยเคยเป็น “อู่ข้าว อู่น้ำ” บรรพบุรุษของเราเป็นหนึ่งในการเกษตร เป็นหนึ่งในวิทยาการความรู้ การเก็บกักรักษาน้ำ ก่อนความรู้เรื่องชลประทานจากตะวันตกจะแพร่เข้ามา บรรพบุรุษของเราก็มีศักยภาพในการพึ่งตนเอง มีองค์ความรู้อย่างดีเยี่ยมในการดูแลต้นน้ำ รู้จักสร้างฝายที่จะเป็นตัวเก็บกักน้ำ รู้จักสร้างฝายต่างระดับเพื่อแยกน้ำระบายน้ำไปยังแหล่งเพาะปลูกต่างๆ การสร้างฝายสะท้อนถึงวัฒนธรรมชุมชนพึ่งตนเอง อาศัยพลังของชุมชนในการขับเคลื่อนสร้างสิ่งที่เป็นประโยชน์ร่วมกันของชุมชน เมื่อเกิดการชลประทาน วัฒนธรรมพึ่งตนเองในการรักษาน้ำ ระบายน้ำก็ค่อยๆ หายไป หันมาพึ่งการชลประทานแทน ปัจจุบันจะหาต้นแบบของฝายที่เรียกว่า “ฝายชาวบ้าน” คงหายากเต็มที แม้กระนั้นเราก็ยังพอมีตัวอย่างของ ฝายชาวบ้านที่สมบูรณ์แบบมาให้เห็น ขอยกตัวอย่าง ฝายชาวบ้าน และลำรางส่งน้ำ เขาสระบาป จังหวัดจันทบุรี ซึ่งเป็นฝายที่มีอายุร่วมร้อยปีของชาวจันทร์บูร ปัจจุบันยังคงสภาพสมบูรณ์ ชาวบ้านยังร่วมกันซ่อมแซมทำนุบำรุงฝายและลำรางซึ่งเป็นลำรางต่างระดับอยู่เป็นประจำทุกปี ฝายสระบาปยังทำหน้าที่ในการส่งลำเลียงน้ำธรรมชาติที่ใสสะอาดไปยังเทือกสวนไร่นาชาวจันทบุรีอย่างไม่เคยแห้งขอดมาตลอดระยะเวลาร่วม 100 ปี จนสร้างความมั่งคั่งให้กับชาวจันทร์บูรมาถึงทุกวันนี้ นี่คือภูมิปัญญาชาวบ้าน มรดกไทยที่สมควรได้รับการเชิดชู ทำนุบำรุง เป็นภูมิปัญญาการดูแล “น้ำ” อย่างง่ายๆ แต่ทรงประสิทธิภาพ
ถึงเวลาแล้วหรือยังที่รัฐจะทำการทบทวน เอาจริงเอาจังในนโยบายการจัดการปัญหา น้ำ อย่างเป็นระบบ และเป็นองค์รวม พลิกฟื้นเอาคำว่า “อู่ข้าว อู่น้ำ” กลับมาเป็นคำขวัญของประเทศไทยให้จงได้ ก่อนที่ทุกอย่างจะสายเกินไป และก่อนที่คนไทยจะต้องทำสงครามเพื่อแย่ง “น้ำ”