9 ฐานเรียนรู้
ความรู้ที่น่าสนใจ (Documents on web)
ติดต่อเรา
มูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ
เลขที่ ๑๑๔ ซอย บี ๑๒ หมู่บ้านสัมมากร สะพานสูง กรุงเทพฯ ๑๐๒๔๐
สำนักงาน ๐๒-๗๒๙๔๔๕๖ (แผนที่)
ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติ มาบเอื้อง 038-198643 (แผนที่)
User login
ลิงค์เครือข่าย
คนหวงสายน้ำ
คนหวงสายน้ำ
แม่น้ำประแส เมืองแกลง จังหวัดระยอง ครั้งหนึ่งเคยเหม็น ดำเป็นน้ำครำ ไม่แตกต่างจากคลองแสนแสบที่คนกรุงเทพฯ เคยชิน แต่ปัจจุบันแม่น้ำประแส ฟื้นคืนชีวิตเป็นแหล่งน้ำใสสะอาดเป็นความภาคภูมิใจของคนเมืองแกลง เมืองสุนทรภู่อีกครั้ง คนที่เกิดกรุงเทพฯ โตกรุงเทพฯ คงคิดไม่ออกว่า จะทำให้คลองแสนแสบที่ส่งกลิ่นเหม็น สีดำ ตำตาทุกวันนั้น ใสสะอาดได้อย่างไร ดูแล้วคงต้องคอยไปอีกหลายชาติ
แต่ทำไมเรื่องยากของคนกรุงฯ จึงกลายเป็นเรื่องง่ายของคนแกลง
จากเทศมนตรีที่เอาจริงเอาจัง ทีมงานที่เข้มแข็ง และความรู้ภูมิปัญญาชีวภาพง่ายๆ เพียง 3 เงื่อนไข แม่น้ำประแสก็ฟื้นคืนชีวิต กลับเป็นแหล่งทำมาหากิน เป็นที่อยู่ของปู ปลา หอย ต้นลำพู และหิ่งห้อยนับล้านๆ ตัว เป็นแหล่งเรียนรู้ป่าชายเลนที่สมบูรณ์มากที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศไทย โดยใช้เวลาเพียง 2 ปี คุณสมชาย จริยเจริญ นายกเทศมนตรี และคุณมนตรี สิ้นเคราะห์ รองนายกเทศมนตรี สองผู้นำหนุ่มแห่งเมืองแกลง ย้อนอดีตถึงที่มาของความสำเร็จในการแก้ปัญหาน้ำเน่าแม่น้ำประแสว่า
“การแก้ปัญหาต้องเริ่มวิเคราะห์ทั้งระบบตั้งแต่ต้นน้ำ ถึงปลายน้ำ ดูองค์ประกอบทุกส่วนที่มีผลทำให้น้ำเน่าถูกระบายลงสู่แม่น้ำ ทั้งโรงงาน ตลาด ชุมชน ประชาชนที่อาศัยอยู่ริมน้ำ เราเริ่มต้นโดยการปลูกสำนึกรักแม่น้ำให้คนในชุมชนก่อน เป็นช่วงที่ทีมงานต้องทำงานหนักมาก รณรงค์ให้ความรู้ ชี้แจงทำความเข้าใจ รวมทั้งจัดกิจกรรมหลากหลายชนิดโดยใช้แม่น้ำเป็นศูนย์กลาง
ขั้นที่สอง เริ่มขบวนการในการบำบัดขยะ ของเน่าเสียทุกอย่างที่มีปลายทางลงสู่แม่น้ำ ตลาดเป็นแหล่งขยะที่ใหญ่ที่สุดของชุมชน เราจัดการแยกขยะในตลาดทุกตลาด นำขยะที่เป็นของเปียก ของสดกลับมาหมักเป็นปุ๋ยโดยใช้ภูมิปํญญาง่ายๆ คือ จุลินทรีย์ ส่วนขยะที่เป็นพลาสติก ประเภทไม่ย่อยสลายนำไปฝังกลบ
สำหรับโรงงาน ก็ขอความร่วมมือให้โรงงานทุกโรงงานเข้มงวดกับระบบบำบัดน้ำเสียของตนเอง หากพบว่าโรงงานไหนยังทำไม่ถูกต้อง เริ่มแรกเราจะเตือนก่อน ใช้วิธีการทั้งขู่ทั้งปลอบ บางโรงงานที่มีสำนักงานใหญ่อยู่ในต่างประเทศ หากยังทำผิดเราก็แจ้งไปยังสำนักงานใหญ่ ซึ่งค่อนข้างจะได้ผล เพราะสำนักงานใหญ่มีกฎลงโทษค่อนข้างหนักหากโรงงานลูกที่ไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย โดยเฉพาะด้านสิ่งแวดล้อม
สำหรับชุมชน และประชาชนทุกครัวเรือน ก็ทำความเข้าใจและสนับสนุนให้ครัวเรือนใช้จุลินทรีย์ย่อยสลายของเสีย ก่อนทิ้งน้ำลงท่อระบายน้ำ เทศบาลจะผลิตน้ำหมักจุลินทรีย์แจกฟรี ให้กับทุกครัวเรือน ไม่ว่าจะเป็นร้านค้า ร้านอาหาร โรงพยาบาล ชี้ให้เห็นถึงบทบาทของ จุลินทรีย์ ว่าให้ประโยชน์อย่างไรและทำให้สิ่งแวดล้อมดีขึ้นอย่างไร สนับสนุนให้ครัวเรือนใช้น้ำหมักจุลินทรีย์ ในการซักล้าง ไม่ว่าจะล้างจาน ซักผ้า หรือถูบ้าน หยดจุลินทรีย์ในท่อน้ำทิ้งทุกวันให้เป็นกิจวัตร เมื่อน้ำต้นทางได้รับการบำบัดก่อนลงสู่แม่น้ำ ก็จะทำให้มีปริมาณน้ำดีลงกลับสู่แม่น้ำมากขึ้น ปริมาณออกซิเจนก็มากขึ้นด้วย
สำหรับแม่น้ำที่ยังเสียอยู่ ในระยะแรกเราทำการขุดลอก เก็บขยะที่มีอยู่ในแม่น้ำอย่างต่อเนื่อง โดยใช้วิธีการง่ายๆ ตามคำแนะนำของชาวบ้าน คือใช้ไม้ไผ่ขวางลำน้ำ ทั้งน้ำขึ้นน้ำลง ซึ่งเป็นการดักขยะที่ได้ผลดีมาก พร้อม ด้วยเจ้าหน้าที่เก็บขยะจนขยะหมด รณรงค์ให้ประชาชนเลิกทิ้งขยะลงในแม่น้ำอีก
ขั้นตอนต่อไปคือการฟื้นฟูระบบนิเวศน์ของป่าชายเลนด้วยการให้ประชาชนร่วมกันปลูกป่า เช่น โกงกาง จาก สร้างความผูกพันของชุมชนกับสายน้ำโดยผ่านกิจกรรมนานาชนิด ชาวบ้านก็จะเริ่มเห็นว่าแม่น้ำสะอาดขึ้น ใสขึ้น อันเป็นผลมาจากความรัก ความร่วมมือของชุมชน เมื่อแม่น้ำฟื้นคืนชีวิตทั้งหมดแล้ว ผู้คนก็จะหวงแหน และไม่อยากทำลายมันอีก แต่สิ่งที่ยากกว่าการฟื้นฟู คือ การรักษาให้สายน้ำใสสะอาด คงอยู่ตลอดไป กิจกรรมที่เลื่องลือของคนเมืองแกลงในการรักษาแม่น้ำ คือ นักสืบสายน้ำ ซึ่งเป็นความร่วมมือของครู นักเรียน นักพัฒนา และประชาชนสองฝั่งน้ำ ในการเฝ้าติดตาม เฝ้าระวังสายน้ำอยู่ทุกขณะ มีการเลี้ยงปลาเพื่อให้ปลาเป็นตัววัดระดับออกซิเจนในแม่น้ำ หากพบว่ามีปลาตายแสดงว่าคุณภาพน้ำเสื่อมลง ก็จะทำการสืบค้นว่าน้ำเสียมาจากไหน
นอกจากนี้เมืองแกลงมีกิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ เช่น การล่องแพ ชมหิ่งห้อย ให้หิ่งห้อยทำหน้าที่ในการอนุรักษ์สายน้ำ และเพราะหิ่งห้อยเป็นอีกตัววัดหนึ่งของความสะอาดของแม่น้ำ หากปริมาณหิ่งห้อยน้อยลง แสดงว่าน้ำเริ่มเสื่อมคุณภาพ เพราะปริมาณอาหารของหิ่งห้อยซึ่งเป็นตัวทากนั้นลดลง
สิ่งที่สำคัญที่สุด การที่ผู้คนได้รับประโยชน์จากสายน้ำ นอกจากความอุดมสมบูรณ์ของปู ปลา หอยที่ฟื้นคืนกลับมาแล้ว ชาวบ้านยังได้ประโยชน์จากต้นจาก ใบจาก ลูกจาก และหิ่งห้อยที่เป็นแรงดึงดูดสำคัญของการท่องเที่ยวเมืองแกลง หากใครที่เคยล่องแพชมหิ่งห้อย วางลอบ ดักปูดำ กลางแม่น้ำประแส ก็จะรู้ว่าสวรรค์เมืองสยามนี้มีจริง”
เห็นหรือไม่ว่า การทำแม่น้ำให้ใสสะอาดนั้นง่ายนิดเดียว ขอเพียงแต่มีใจ มีความกล้า ความอดทน และเชื่อมั่นในภูมิปัญญาของตนเอง คลองแสนแสบก็เช่นกัน จะสะอาดได้โดยไม่ต้องเสียเงินจ้างผู้เชี่ยวชาญมาจากชาติไหน