9 ฐานเรียนรู้
ความรู้ที่น่าสนใจ (Documents on web)
ติดต่อเรา
มูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ
เลขที่ ๑๑๔ ซอย บี ๑๒ หมู่บ้านสัมมากร สะพานสูง กรุงเทพฯ ๑๐๒๔๐
สำนักงาน ๐๒-๗๒๙๔๔๕๖ (แผนที่)
ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติ มาบเอื้อง 038-198643 (แผนที่)
User login
ลิงค์เครือข่าย
ควันหมอกในอากาศ ฤาหมอกควันในหัวใจ
ควันหมอกในอากาศ ฤาหมอกควันในหัวใจ
ปัญหาวิกฤติหมอกควันเป็นพิษที่เป็นข่าวใหญ่ในหลายจังหวัดภาคเหนือขณะนี้ รุนแรงถึงขั้นที่รัฐบาลต้องประกาศให้บางจังหวัดเป็น เขตภัยพิบัติหมอกควัน
นี่เป็นอีกหนึ่งวิกกฤตการณ์ด้านสิ่งแวดล้อมที่เป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงของโลก ที่ได้เคยกล่าวย้ำเตือนกันมานานว่า ภัยพิบัติทางธรรมชาติจะเกิดมากขึ้น ถี่ขึ้น และรุนแรงขึ้น ทั้งหมดเป็นผลมาจาก น้ำมือมนุษย์
หากเปรียบธรรมชาติเหมือนร่างกาย หมอกควันเป็นพิษก็เหมือนกับอาการของโรคที่แสดงออกถึง การหมดภูมิคุ้มกันที่ธรรมชาติเคยมี ถ้าถามว่าการจุดไฟเผาป่า หรือเหตุผลต่างๆ ที่อ้างอิงถึงที่มาของหมอกควัน ไม่ใช่ว่าไม่เคยเกิดขึ้นในอดีต
การมีไฟป่า ก็เป็นธรรมชาติอย่างหนึ่งของระบบนิเวศน์ เพียงแต่ว่าเมื่อภูมิคุ้มกันของธรรมชาติยังดี ยังมีความสมดุลย์อยู่ ความชุ่มชื้นที่ธรรมชาติยังมีจากความสมบูรณ์ของป่าไม้ ผืนดิน ผืนน้ำ ก็จะเป็นตัวหยุดไฟป่าเอง แต่วิกฤติธรรมชาติครั้งนี้เป็นการส่งสัญญาณอีกครั้งหนึ่งว่า “ภูมิคุ้มกัน” ที่เคยแข็งแรง เวลาเกิดการเจ็บป่วย ธรรมชาติก็จะสามารถดูแลตนเองให้กลับไปสู่ภาวะปกติได้ บัดนี้ “ภูมิคุ้มกัน” อันอ่อนล้าเต็มที ถูกมนุษย์ซ้ำเติมโดยการจุด เผา ทำลาย ก็ไม่สามารถแสดงศักยภาพในการดูแลปกป้องตัวมันเองอีกต่อไป ต้องการการเยียวยาอย่างเร่งด่วน และต้องเป็นการเยียวยาที่มุ่งไปที่ต้นเหตุ ไม่ใช่ปลายเหตุ
เรามี “ผู้นำทางอัจฉริยะ” ที่เคยทำให้เป็นตัวอย่างในการแก้ปัญหาหมอกควันอัน เป็นผลมาจากไฟป่า มาแล้ว แต่ทางการละเลย ไม่เคยสนใจแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ พระองค์ท่าน ได้เสนอการแก้ปัญหาโดยหลักการ คืนภูมิคุ้มกันให้กับธรรมชาติ โดยใช้หลักสำคัญๆ ดังนี้
การสร้างภูเขาป่าเปียกให้ทำหน้าที่เป็นแนวกันไฟป่า (Wet fire break) หลายพื้นที่ในภาคเหนือ เช่น เชียงใหม่ หรือ แม่ฮ่องสอน มีลักษณะภูมิประเทศแบบแอ่งกระทะ หมอกควันต่างๆ ถูก กักเอาไว้ ถ้าความชื้นของอากาศมีไม่มากพอ การสร้างภูเขาป่า จะเหมือนมีต้นไม้ล้อมรอบบ้านก็จะทำให้บริเวณบ้านร่มเย็นจากปริมาณของออกซิเจน จากความชื้นของอากาศ และผืนดินที่ดูดซับน้ำไว้ และจากปริมาณฝนที่เกิดจากป่า ภูเขาป่าเปียกก็จะทำหน้าที่โดยธรรมชาติเป็นแนวกันไฟป่า เมื่อมีการจุดไฟ หรือเผา ก็มีแนวกันไฟธรรมชาติไม่ให้ไฟป่าลุกลาม และความชื้นรอบๆ จะช่วยให้ไฟป่าดับไปเองโดยธรรมชาติ
อีกวิธีการหนึ่งในการป้องกันไฟป่าที่พระองค์ท่านได้ทำให้เป็นตัวอย่างแล้วคือ การสร้างฝายชุ่มฉ่ำ (Check dam) นอกจากป่า แล้วการมีฝายเล็กๆ กระจายอยู่พร้อมกับหญ้าแฝก ก็จะเป็นตัวช่วยในการเก็บอุ้มน้ำ เก็บความชุ่มชื้น ชุ่มฉ่ำให้กับพื้นที่โดยรอบ เพียงแค่นี้ไฟป่าก็จะไม่ลุกลามและค่อยๆ ดับไปเอง
เรามีตัวอย่างของความสำเร็จอันเป็นผลมาจากความร่วมมือร่วมใจของชุมชน หน่วยงานรัฐที่มีจิตสำนึกในการดูแลและรักษาทรัพยากร ด้วยการสร้าง ภูมิคุ้มกัน ให้กับธรรมชาติ ที่ป่าต้นน้ำ ศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย และเพียงแค่เดินตามรอยที่พระองค์ท่านได้สอนไว้ ป่าต้นน้ำศรีสัชนาลัย ดินแดนอารยะธรรมต้นกำเนิดของประเทศไทย ก็อยู่รอดปลอดภัยจากไฟป่า ป่าต้นน้ำศรีสัชนาลัยล้อมรอบด้วยผืนป่า 250,000 ไร่ ปีนี้มีไฟป่าเกิดขึ้น 2 ครั้ง ซึ่งทั้ง 2 ครั้งสามารถควบคุมได้ทั้ง 100 เปอร์เซ็นต์ และพบว่า ไฟป่าเกิดยาก และเมื่อเกิดแล้วก็จะไม่ลุกลาม ความสำเร็จนี้เกิดจากการเข้าใจธรรมชาติ และจัดการ ดูแลตามวิถีธรรมชาติ แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ การสร้างสำนึกให้กับชุมชน และความสามารถในการประสานความร่วมมือที่เข้มแข็งจาก 4 ภาคีอันได้แก่ หน่วยต้นน้ำจากภาครัฐ โรงเรียนในพื้นที่ 10 โรงเรียนจากภาคการศึกษา ชุมชน อบต. จากภาคประชาชน และมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติจากภาคประชาสังคม ก่อเกิดเป็นการกระทำที่เป็นรูปธรรมในการปกป้องดูแลธรรมชาติ เพื่อให้ธรรมชาติสามารถกลับมาดูแลผู้คนในชุมชน
ขอหยิบยกเอาคำพูดที่สะท้อนภาพปัจจุบันของประเทศไทยได้เป็นอย่างดีของราษฎรอาวุโส คุณหมอประเวศ วะสี ในการแสดงปาฐกถา เมื่อวันที่ 20 มีนาคม ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ว่า “แผ่นดินประกอบด้วยรูปธรรม 2 ประการคือ ทรัพยากรธรรมชาติ และประชากรบนแผ่นดิน และนามธรรมอีก 2 อย่างคือ วัฒนธรรมและความเป็นธรรม แต่ตอนนี้แผ่นดินไทยเข้าไอซียูแล้ว เรากำลังสูญเสียยิ่งกว่าตอนเสียกรุงให้พม่า เพราะตอนนั้นวัฒนธรรมและทรัพยากรยังอยู่ แต่ตอนนี้สูญเสียทุกอย่าง และแผ่นดินกำลังเจ็บป่วยขนาดหนัก เราเปลี่ยนทรัพยากรของคนไทยทุกคนไปเป็นเงินของคนส่วนน้อย เราจึงเห็นภาพการทำลายป่าและทรัพยากรอย่างมหาศาล” ถ้าจะวิเคราะห์ให้ถ่องแท้ ควันหมอกพิษในภาคเหนือ แท้จริง เป็นหมอกควันที่ปกคลุมอยู่ในจิตใจของผู้คนต่างหาก เป็นม่านบังตา ให้ผู้คนหลงมัวเมาในกิเลส จาริกอยู่ในโมหภูมิแห่งความโลภ ความไม่พอ นำมาซึ่งการทำลายล้าง และความยากจน