9 ฐานเรียนรู้
ความรู้ที่น่าสนใจ (Documents on web)
ติดต่อเรา
มูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ
เลขที่ ๑๑๔ ซอย บี ๑๒ หมู่บ้านสัมมากร สะพานสูง กรุงเทพฯ ๑๐๒๔๐
สำนักงาน ๐๒-๗๒๙๔๔๕๖ (แผนที่)
ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติ มาบเอื้อง 038-198643 (แผนที่)
User login
ลิงค์เครือข่าย
เมื่อ ชาวนา ลุกขึ้นมาสร้าง มหาวิทยาลัย
เมื่อ ชาวนา ลุกขึ้นมาสร้าง มหาวิทยาลัย
ข่าวคราวที่เป็นที่สนใจด้านการศึกษาภายใต้รัฐบาล “ขิงแก่” ดูจะไม่มีอะไรเกินกว่า ข่าวความพยายามของรัฐบาลที่จะเอามหาวิทยาลัยออกนอกระบบซึ่งดูเหมือนว่าจะมีเสียงคัดค้านมากกว่าเสียงสนับสนุน นัยว่าผู้บริหารมหาวิทยาลัยก็เตรียมขยับที่จะเพิ่มเงินเดือนให้กับตัวเองทันทีที่มีกฎหมายให้มหาวิทยาลัยออกนอกระบบเกิดขึ้น ก็เลยเป็นที่สงสัยของสังคมว่า การเอามหาวิทยาลัยออกนอกระบบนั้นทำไปเพื่อใคร
แม้ไม่พูดก็ดูเหมือนจะเป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปว่า “การศึกษาไทย”ล้มเหลว และกำลังเดินสู่จุดวิกฤตที่สุด บัณฑิตที่ผลิตออกมาไร้คุณภาพ ไม่สามารถเป็นที่พึ่งของสังคมได้ หลายคนทิ้งวิชาชีพที่ตนได้ร่ำเรียนมาโดยไม่คำนึงถึงภาระภาษีที่คนทั้งสังคมต้องแบกรับ คนจบครูไม่อยากเป็นครู คนจบกฎหมายไม่อยากทำงานด้านกฎหมาย เรียนเพียงเพื่อให้ชื่อว่าได้ “ปริญญา” ยิ่งคุณธรรมจิตสำนึกไม่ต้องพูดถึง อาการยิ่งน่าเป็นห่วง อัตราการทิ้งถิ่นฐานของบัณฑิตสูงมากจนต้องคิดว่า แทบจะไม่มีเยาวชนดีมีความรู้ความสามารถหลงเหลือในท้องถิ่นอีกแล้ว ถ้าเป็นเด็กเก่งก็ต้องไม่อยู่ พวกอยู่ก็ถูกตราหน้าเป็นเด็ก “เหลือขอ” ปรากฏการณ์แบบนี้ก็คงไม่ต่างจากคนไข้ที่กำลังเป็น “มะเร็ง” ในระยะสุดท้าย รอแค่ว่าเมื่อไหร่วันตายจะมาถึง
ขณะที่ภาพใหญ่ทางการศึกษาของประเทศถึงทางตัน ก็มีขบวนการเล็กๆ ที่จะ “ปฏิวัติ” การศึกษาเกิดขึ้น พลิกวิธีคิด วิธีการ และรูปแบบใหม่อย่างสิ้นเชิง สร้างมหาวิทยาลัยทางเลือกที่จะเป็นทางออกให้กับสังคม ให้กับชุมชนโดยน้อมนำเอาวิธีคิด “เศรษฐกิจพอเพียง” มาใช้ และจะเป็นมหาวิทยาลัยที่จะมีชาวนา ชาวสวน ชาวไร่ ปราชญ์ชาวบ้าน เดินขวักไขว่ ให้ความรู้ ติดปริญญาบัตร ดอกเตอร์ โดยไม่ต้องเสียเงินล้านไปเรียนถึงเมืองนอก เป็นสถาบันที่ไม่ต้องยึดติดกับตึกเรียนราคาเป็นล้าน ไม่ต้องยึดติดกับห้องเรียนสี่เหลี่ยม ที่นับวันจะเป็นตัวตี “กรอบ” ทางความคิดของผู้ที่เดินก้าวออกมา
เมื่อมาดูองคาพยพของการสร้างมหาวิทยาลัยก็จะต้องยิ่ง “ทึ่ง” เพราะเป็นการรวมพลังของภาคส่วนสังคม “เบญจภาคี” เข้าด้วยกันอย่างลงตัวทั้ง ภาคประชาชน ภาคเอกชน ภาควิชาการ ภาครัฐ และภาคประชาสังคมรวมทั้งสื่อ ซึ่งถือได้ว่าเป็น “มิติ” ใหม่ของพัฒนาการการศึกษาไทยก็ว่าได้ ยิ่งเมื่อดู “เนื้อหาหลักสูตร” “วิธีการเรียนการสอน” และ “ครู” ของมหาวิทยาลัยเบญจภาคีนี้แล้วก็ยิ่งเป็นการ “ปฏิวัติ” รูปแบบการได้มาขององค์ความรู้ในมหาวิทยาลัยกันเลยทีเดียว เพราะ บ้าน ท้องนา คอกหมู ป่า แม่น้ำลำคลอง และอีกหลายๆ ที่ของชุมชนจะเป็นห้องเรียนที่ให้ความรู้อย่างไร้ขีดจำกัด มีผู้คนที่เรียนรู้จาก ”การปฏิบัติจริง” โดยไม่ต้องมีประกาศนียบัตรครู แต่รู้มากกว่าดอกเตอร์ เป็นผู้สอน และการเรียนการสอนก็ไม่ต้อง “ท่องตำรา” แต่อาศัย “ลงมือปฏิบัติ” เป็นตัวนำปัญญา สู่ผลิตผลของผู้เรียนที่มี “ทักษะชีวิต” เป็นฐานความรู้ ควบคู่กับความชำนาญเฉพาะ ยิ่งไปกว่านั้นทุกย่างก้าวของการเรียนรู้จะมีมิติทาง “จิตวิญญาณ” ของความดี ความเพียร ความรัก เป็นเครื่องนำทาง
ฟังดูแล้ว หลายคนอาจสงสัยว่า อาจารย์ยักษ์แห่งมหา'ลัยคอกหมูกำลัง “ฝันกลางวัน” หรือเปล่า หรือไม่ก็ “เล่าความเท็จ” มหาวิทยาลัยในฝัน แบบนี้ใครๆ ก็พูดได้ แต่จะทำให้เกิดขึ้นจริงนี่สิ ทำได้แน่หรือ ไม่อยากจะบอกเรื่องแปลกแต่จริงที่ว่า นักฝัน ทั้ง ๕ กลุ่มนี้เผอิญมาเจอกัน แล้วก็ทำพันธะสัญญาว่า จะ “ทำฝันให้เป็นจริง” และฝันที่ว่า ก็กำลังก่อรูปก่อร่าง เป็น “ความจริง” ขึ้นมา ฉบับหน้าเรามาว่ากันว่า “ความจริง” ของมหาวิทยาลัยในฝันนี้มีรูปร่าง หน้าตา รายละเอียดอย่างไร