9 ฐานเรียนรู้
ความรู้ที่น่าสนใจ (Documents on web)
ติดต่อเรา
มูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ
เลขที่ ๑๑๔ ซอย บี ๑๒ หมู่บ้านสัมมากร สะพานสูง กรุงเทพฯ ๑๐๒๔๐
สำนักงาน ๐๒-๗๒๙๔๔๕๖ (แผนที่)
ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติ มาบเอื้อง 038-198643 (แผนที่)
User login
ลิงค์เครือข่าย
เดินตามรอย “พ่อ” 2
เดินตามรอย “พ่อ” ตอน 2
ขอย้ำถึง “วิกฤติโลก” ที่กำลังรุมเร้ามนุษยชาติอีกครั้ง เพราะสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นรอบ ๆ ตัวเราและโลกของเรา ย้ำถึง ภัยพิบัติที่กำลังย่างกรายใกล้เข้ามาทุกทีและรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ ไต้ฝุ่นทุเรียนที่คร่าชีวิตชาวฟิลิปปินส์ร่วมพันคน เกาหลีต้องฆ่าไก่ถึง 700,000 ตัวเพราะไข้หวัดนกระบาด ออสเตรเลียกำลังเผชิญ “ไฟป่า” ที่รุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ และกำลังเผชิญกับภาวะขาดแคลนน้ำถึงขั้นกระทบกับการดำรงชีวิตประจำวัน การรดน้ำต้นไม้โดยการใช้สายยางฉีดกลายเป็นสิ่งต้องห้าม การล้างรถอย่างที่คนไทยทำกันที่ต้องใช้น้ำจำนวนมากก็เป็นสิ่งที่ผิดกฎหมาย คนออสเตรเลียขณะนี้ต้องใช้ “น้ำ” แบบ “รีไซเคิล” คือ อาบน้ำแล้วต้องเอาน้ำมาใช้ใหม่ น้ำที่ซักผ้าแล้ว ไม่มีใครทิ้งลงท่ออีก ต้องกลับเอามารดน้ำต้นไม้
“พ่อ” ของเราเคยทรงเตือนเรื่องนี้มาตลอด และทรงให้ความสำคัญกับ “น้ำ” จนเรียกได้ว่า “จอมปราชญ์แห่งน้ำ” เพราะน้ำเป็นทรัพยากร ที่สำคัญมากที่สุดของการดำรงชีวิต และเคยพระราชทานทางออกที่ไม่ให้มนุษย์ต้องทะเลาะวิวาท “ฆ่าฟัน” กันเพราะแย่งน้ำ ซึ่งก็เคยเกิดขึ้นมาแล้วในบ้านเรา ทางออกของเราคือ เดินตามรอย “พ่อ” ในการใช้ชีวิต อย่าง “พอเพียง” ไม่เบียดเบียนมนุษย์และไม่ “เบียดเบียน” ธรรมชาติ ในงาน 5 ธันวามหาราช เราได้เห็นชาวนา ชาวไร่ เกษตรจำนวนหนึ่ง ประกาศเจตจำนงที่แน่วแน่ในการเดินตามรอยเท้า “พ่อ” และได้สร้างตัวอย่างของความสำเร็จโดยใช้แนวคิดของพระองค์ท่านที่หันกลับมาพึ่งภูมิปัญญาของ “บรรพบุรุษ” ของเราเอง ความสำเร็จมีให้เห็นดาษดื่น ไม่ว่าจะเป็นนากุ้ง สวนผสม สวนปาล์ม นาข้าว แม้แต่ภาคการท่องเที่ยวก็มีตัวอย่างให้เห็น เราได้เคยพูดถึง ภาคพลังงานที่กำลังเคลื่อนตัวโดยมี 5 ภาคีประกอบร่างร่วมกัน วันนี้ขอพูดถึงภาคการศึกษาที่ เดินตามรอยเท้า “พ่อ” อย่างคึกคัก คล่องแคล่ว และครื้นเครงอย่าง วชิราวุธวิทยาลัย ที่เรียกตัวเองอย่างเต็มภาคภูมิว่า “เด็กในหลวง”
ขณะนี้ทุกส่วนของ “วชิราวุธวิทยาลัย” ทั้งระดับผู้บริหาร คณาจารย์ เจ้าหน้าที่ และพนักงาน รวมทั้ง นักเรียน เรือนพัน กำลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียงในภาคปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม ภายในไม่อีกกี่เดือนข้างหน้า เราจะเห็น “โฉมใหม่” ที่น่าทึ่งของโรงเรียน “เด็กในหลวง”
หลังจากที่ ผู้บริหาร คณาจารย์ เจ้าหน้าที่ พนักงาน และนักเรียน เข้าฝึกอบรมหลักสูตร “การพัฒนากสิกรรมสู่ระบบเศรษฐกิจพอเพียง” ที่ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติ มาบเอื้อง จังหวัดชลบุรี ทั้งหมด 4 รุ่น ร่วม 400 คน โรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัยก็ “เปลี่ยนไป” เกิดกลุ่มพลังอาสาสมัคร ขึ้น 15 กลุ่ม ที่มีพันธกิจ และภารกิจในการนำพาโรงเรียนไปสู่ เศรษฐกิจพอเพียงอย่างแท้จริง โดยการเริ่มต้นการ “พึ่งตนเอง” กลุ่มทั้ง 15 กลุ่ม มีภารกิจ ดังนี้
1 กลุ่มเปลี่ยนขยะให้เป็นเอ็นไซม์ 2 กลุ่มทำน้ำยาซักผ้า น้ำยาถูพื้น น้ำยาล้างจาน 3 กลุ่มบำบัดน้ำเสีย 4 กลุ่มทำปุ๋ยอินทรีย์ 5 กลุ่มปลูกผัก 6 กลุ่มปลูกสมุนไพร 7 กลุ่มปลูกป่า 3 อย่าง 8 กลุ่มนาข้าว 9 กลุ่มน้ำส้มควันไม้ 10 กลุ่มผลิตไบโอดีเซล 11 กลุ่มฟื้นฟูพันธุ์พืช 12 กลุ่มรวบรวมข้อมูลข่าวสาร 13 กลุ่มวิชาการพัฒนาหลักสูตร 14 กลุ่มประชาสัมพันธ์ กลุ่มที่ 15 นึกไม่ออก อยากรู้ต้องตามไปดูเอง
ถ้าใครมีโอกาสเข้าไปภายในโรงเรียนและได้กลิ่น “กล้วยแขก” หรือ “ไก่ทอด” ก็ไม่ต้องตกใจ เพราะนี้เป็น กลิ่นที่มาจาก “น้ำมันไบโอดีเซล” ที่โรงเรียนผลิตขึ้นมาจากน้ำมันใช้แล้ว และถ้าเห็นพนักงานกำลังแจกจ่ายน้ำยาล้างจาน น้ำยาถูพื้น ก็ไม่ต้องแปลกใจ เพราะพนักงานของโรงเรียน ผลิตน้ำยาพวกนี้ใช้เองแล้วทุกบ้าน รวมทั้งแจกจ่ายไปยังพี่น้องในท้องถิ่นของตัวเองด้วยแล้ว นอกจากนี้ยังเป็น “ครู” ถ่ายทอดวิชา “คนมีน้ำยา” ให้กับคนในชุมชนของตนเอง ฉบับหน้าจะมาเล่าอาการ “แปลกแต่ดี” ของ “เด็กในหลวง” ที่หลายโรงเรียนน่าเอาเป็นตัวอย่างในการเดินตามรอยเท้า “พ่อ”