9 ฐานเรียนรู้
ความรู้ที่น่าสนใจ (Documents on web)
ติดต่อเรา
มูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ
เลขที่ ๑๑๔ ซอย บี ๑๒ หมู่บ้านสัมมากร สะพานสูง กรุงเทพฯ ๑๐๒๔๐
สำนักงาน ๐๒-๗๒๙๔๔๕๖ (แผนที่)
ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติ มาบเอื้อง 038-198643 (แผนที่)
User login
ลิงค์เครือข่าย
ตามรอยเจ้าฟ้านักอนุรักษ์ 1
ตามรอยเจ้าฟ้านักอนุรักษ์ 1
ในครั้งยังติดตามเสด็จรับใช้ทรงงานให้กับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ พระองค์ท่านได้เคยทรงกล่าวและทรงแสดงความห่วงใยถึงทรัพยากรและพันธุ์พืชของแผ่นดินอยู่เนืองๆ ด้วยทรงเห็นว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่มีความหลากหลายทางชีวภาพมากที่สุดประเทศหนึ่งของโลก ประเทศไทยมีพืชพรรณที่พบไม่ต่ำกว่า 20,000 ชนิด ที่ผ่านมาพืชพรรณเหล่านี้กำลังถูกคุกคามอย่างหนักทั้งทางตรงและทางอ้อม ในปี 2503 ขณะที่ทรงแปรพระราชฐานไปประทับ ณ วังไกลกังวล หัวหิน ได้ทรงเสด็จผ่านอำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี ทอดพระเนตรเห็นต้นยางนาขนาดใหญ่ อุดมสมบูรณ์ เป็นจำนวนมาก มีพระราชดำริที่จะสงวนป่ายางนี้ไว้ด้วยทุนทรัพย์ของพระองค์เอง แต่ไม่สามารถดำเนินการได้เพราะมีราษฏรเข้าไปทำมาหากินเป็นจำนวนมาก เมื่อไม่สามารถปกปักรักษาป่ายางนานี้ได้ จึงทรงมีพระราชดำริปลูกต้นยางนาเอง ในแปลงทดลองป่าสาธิต ภายในวังสวนจิตรลดา และต่อมาวังสวนจิตรลดาก็กลายเป็นแหล่งพันธุ์ไม้นานาชนิดจากภูมิภาคต่างๆ ทั่วประเทศ เพื่อให้เป็นแหล่งศึกษาพรรณพืชแก่เยาวชนแทนที่จะต้องเดินทางไปทั่วประเทศ ตั้งแต่นั้นมาโครงการพระราชดำริที่เกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและพันธุกรรมพืชเป็นจำนวนมากก็เริ่มต้นขึ้น ในปี 2536
เจ้าฟ้านักอนุรักษ์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้ทรงสืบสานพระราชปณิธาณงานด้านการอนุรักษ์ จัดตั้งโครงการ “อนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ” โดยเริ่มต้นสร้างและปลูกฝังจิตสำนึกในการร่วมกันอนุรักษ์พันธุกรรมพืชให้กับพสกนิกรทุกหมู่เหล่า เริ่มต้นตั้งแต่ เยาวชน ประชาชนทั่วไป ชักนำนักวิจัย นักวิชาการ ร่วมพลังสร้างสรรค์งานวิชาการด้านการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช ดังพระราชดำรัสตอนหนึ่งว่า “การสอนและอบรมให้เด็กมีจิตสำนึกในการอนุรักษ์พืชพรรณนั้น ควรใช้วิธีการปลูกฝังให้เด็กเห็นความงดงาม ความน่าสนใจ และเกิดความปิติที่จะทำการศึกษาและอนุรักษ์พืชพรรณต่อไป การใช้วิธีการสอนและการอบรมให้เกิดความรู้สึกกลัวว่า หากไม่อนุรักษ์แล้วจะเกิดผลเสีย เกิดอันตรายแก่ตนเอง จะทำให้เด็กเกิดความเครียด ซึ่งจะเป็นผลเสียแก่ประเทศในระยะยาว” จากปี 2536 เป็นต้นมา โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ดำเนินกิจกรรมหลากหลายรูปแบบ ตั้งแต่ปกปักรักษาพันธุกรรมพืช สำรวจเก็บรวบรวมพันธุกรรมพืช ปลูกรักษาพันธุกรรมพืช อนุรักษ์และใช้ประโยชน์พันธุกรรมพืช ศูนย์ข้อมูลพันธุกรรมพืช วางแผนพัฒนาพันธุกรรมพืช และที่สำคัญที่สุด สร้างจิตสำนึกในการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช ในส่วนของการสร้างจิตสำนึกอนุรักษ์นั้น โครงการหนึ่งที่กำลังขยายตัวอย่างกว้างขวาง และสมควรได้รับการกล่าวขวัญอย่างยิ่งในที่นี้ คือ โครงการสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียน อันเป็นโครงการที่มีกิจกรรม และการดำเนินงานอิงรูปแบบของสวนพฤกษศาสตร์ โดยมีการรวบรวมพันธุ์ไม้ที่มีชีวิตโดยเฉพาะพันธุ์ไม้ท้องถิ่นมาไว้ในรอบรั้วของโรงเรียน เก็บตัวอย่าง หาแหล่งที่มา บันทึก และรายงาน รวมทั้งเก็บรวบรวมภูมิปัญญาท้องถิ่นของพันธุ์ไม้ชนิดต่างๆ จัดทำมุมศึกษา และการนำไปใช้ประโยชน์ รวมทั้งสร้างสื่อการเรียนการสอนเกี่ยวกับพันธุ์ไม้ที่เก็บรวบรวมไว้ โดยให้เป็นไปตามความพร้อมและสมัครใจของแต่ละโรงเรียน
เป็นที่น่ายินดีว่า เยาวชนไทยกำลังสนุกกับการเรียนรู้ พฤกษศาสตร์ของประเทศ โดยขณะนี้มีโรงเรียนที่เข้าร่วมในโครงการแล้วกว่า 500 โรงเรียน และกำลังรอเข้าเป็นสมาชิกโครงการอีกหลายร้อยโรงเรียน สวนพฤกษศาตร์โรงเรียน มิใช่เป็นสวนประดับ สวนหย่อมหรือสวนสวย แต่เป็นสื่อการเรียนการสอนที่มีชีวิต เพื่อสร้างจิตสำนึกในการอนุรักษ์พืชพรรณ เราเห็นผู้ใหญ่ขาย และทำลายพืชพรรณของประเทศอย่างไม่มียางอายมามากแล้ว งานนี้ขอตบมือให้กับเด็กๆ นักอนุรักษ์น้อยๆ ที่ทำหน้าที่กู้วิกฤตพันธุ์พืชให้กับประเทศชาติ โดยการเดินตามรอยเจ้าฟ้านักอนุรักษ์ของเรา