9 ฐานเรียนรู้
ความรู้ที่น่าสนใจ (Documents on web)
ติดต่อเรา
มูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ
เลขที่ ๑๑๔ ซอย บี ๑๒ หมู่บ้านสัมมากร สะพานสูง กรุงเทพฯ ๑๐๒๔๐
สำนักงาน ๐๒-๗๒๙๔๔๕๖ (แผนที่)
ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติ มาบเอื้อง 038-198643 (แผนที่)
User login
ลิงค์เครือข่าย
ถึงเวลาจัดตั้ง “ปูทะเลย์มหาวิชชาลัย” 1
ถึงเวลาจัดตั้ง “ปูทะเลย์มหาวิชชาลัย” 1
ข่าวคราวที่เกิดขึ้นในต่างประเทศที่กระทบกับชีวิตความเป็นอยู่ของชาวโลกทั่วไปมากที่สุดในทศวรรษนี้ ดูจะหนีไม่พ้นเรื่อง “สภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง” อันเป็นผลจากภาวะ “โลกร้อน” ที่นักวิทยาศาสตร์ 2500 คนจาก 100 ประเทศได้ออกมายืนยันแล้วว่าเป็นผลมาจาก “น้ำมือมนุษย์” หากวิเคราะห์ให้ดีแรงผลักที่ให้มนุษย์กระทำทารุณต่อธรรมชาติอย่างไม่ปราณีปราศรัย มีรากมาจาก “ความโลภ” อันเป็น “แรงกระตุ้น” สำคัญจาก “ระบบทุนนิยม” นั่นเอง นับตั้งแต่มีการปฏิวัติอุตสาหกรรมเป็นต้นมา มนุษย์ก็ยิ่งพัฒนาความสามารถ เครื่องไม้เครื่องมือ เทคโนโลยีในการใช้ทรัพยากรธรรมชาติไม่ว่าจะเป็น ป่าไม้ ถ่านหิน แร่ธาตุ น้ำมัน ในอัตราที่ “รวดเร็ว” “ทรงประสิทธิภาพ” เพื่อบำรุงบำเรอ “ความโลภ” “ความไม่รู้จักพอ” บนฐานความคิดแบบ “ทุนนิยม” ที่ถูกปลูกฝังมาร่วม 100 ปี โดยไม่คำนึงถึงผลกระทบในอนาคต และไม่มีความคิดแม้จะเผื่อแผ่ไปยังคนรุ่นลูกรุ่นหลานว่าจะมีทรัพยากรอะไรเหลือให้ใช้ สนใจแต่ว่า “วันนี้ฉันได้อะไร” โดยไม่สนใจว่า “ที่ฉันได้ ฉันได้ทำลายอะไรไปบ้าง” สภาพการณ์ที่เกิดขึ้นยิ่งตอกย้ำให้เราเห็นว่า “ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” คือทางออกของวิกฤติโลก ในขณะที่การพัฒนาตามแนว “ทุนนิยมโลกาภิวัตน์” ที่เน้นการใช้ทรัพยากรอย่างไม่มีขีดจำกัด เศรษฐกิจพอเพียงกลับเน้นการใช้ทรัพยากรอย่างมีเหตุผล คำนึงถึงหลัก “เคารพกฎธรรมชาติ” พร้อมทั้งคิดที่จะ “เผื่อแผ่” ไปถึงผู้อื่น ดังที่องค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เจ้าของทฤษฎี ทรงเคยพระราชทานให้สัมภาษณ์นักข่าว Mr. Denis D. Gray and Bart McDowell จากนิตยสาร National Geographic ฉบับเดือนตุลาคมปี 2525 ในคอลัมน์ Thailand’s Working Royalty ว่า
“Our country is rich and strategic. So that if there is any struggle in the world, people want to get this country. And there’s always a struggle in the world. We still stand here. We stand here for the good of the whole world.”
“ประเทศของเราเป็นประเทศที่มั่งคั่ง อุดมสมบูรณ์ และอยู่ในจุดยุทธศาสตร์ หากมีการต่อสู้ แย่งชิงเกิดขึ้นในโลก ใครๆ ก็อยากได้ประเทศนี้ และโลกก็มักจะมีการต่อสู้แย่งชิงกันอยู่เสมอๆ (ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นก็ตาม) ประเทศของเราจะยังคงยืนอยู่ที่นี่ จะยืนหยัดอยู่ที่นี่เพื่อประโยชน์ของคนทั้งโลก”
และประเทศไทย ดังที่พระองค์ท่านได้เคยตรัสไว้ มีความอุดมสมบูรณ์ มีความมั่งคั่ง มีธรรมชาติ มีป่าไม้ มีทรัพยากร มีอาหาร พร้อมที่จะ “เผื่อแผ่” ให้กับคนทั้งโลกในยามเกิดวิกฤติ หาก “คนไทย” ไม่ทำลายมันลงไปเสียก่อนด้วยความไม่รู้ ขาดสติ หรือ ไร้สำนึก ดังที่พระองค์ท่านเคยทรงเปรียบเปรยไว้ในบทพระราชนิพนธ์ พระมหาชนก ว่า “นับแต่อุปราชจนถึงคนรักษาช้าง คนรักษาม้า และนับแต่คนรักษาม้า จนถึงอุปราช และโดยเฉพาะเหล่าอมาตย์ ล้วนจาริกในโมหภูมิทั้งนั้น พวกนี้ขาดทั้งความรู้วิชาการ ทั้งความรู้ทั่วไป คือความสำนึกธรรมดา พวกนี้ไม่รู้แม้แต่ประโยชน์ส่วนตน พวกนี้ชอบผลมะม่วงแต่ก็ทำลายต้นมะม่วง”
การขาดความรู้ทั้งวิทยาการ ทั้งปัญญา ไม่เห็นความสำคัญของผลประโยชน์แท้แม้ของตนเอง ทำให้ชาวเมืองมิถิลาตามืดบอด ทำลายต้นมะม่วงทั้งที่ชอบผลมะม่วง เปรียบเสมือนมนุษย์ที่ต้องพึ่งพาธรรมชาติเพื่อความอยู่รอด แต่ท่องอยู่ในโมหะภูมิ กลับทำร้ายธรรมชาติ ซึ่งในที่สุดก็ต้อง “วอดวาย” เพราะ “น้ำมือ” ของตนเอง
การขาด “ความรู้ทั้งวิทยาการ ทั้งปัญญา” เป็นที่มาของการตั้งสถานอบรมสั่งสอนชาวเมืองมิถิลาที่ชื่อ ปูทะเลย์ มหาวิชชาลัย เพื่อยกระดับความรู้ ปัญญา และคุณธรรม อันเป็นความจำเป็นพื้นฐานในการดำรงตนที่เหมาะที่ควรให้กับชาวเมืองมิถิลา จึงไม่น่าแปลกใจว่าทำไม การดำเนินรอยตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง จึงต้องให้ความสำคัญกับ “การศึกษา” และ “การพัฒนาคน” เป็นพื้นฐาน การจัดตั้งมหาวิทยาลัย ตามแนว ปูทะเลย์ มหาวิชชาลัยจึ่งเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้สำหรับสังคมไทย และเป็นที่น่ายินดีว่า ขบวนการขับเคลื่อนเพื่อจัดตั้ง มหาวิทยาลัยเพื่อการพัฒนาคนอย่างยั่งยืน ตามแนวคิดปูทะเลย์มหาวิชชาลัยได้ “ก่อตัว” เป็นรูปธรรมที่ชัดเจนขึ้นแล้ว โดยมีมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ เป็นหัวขบวน ร่วมกับอีก สี่ภาคี (ภาครัฐ ประชาสังคม ประชาชน และเอกชน) และจะขับเคลื่อนในจังหวัดสระแก้วเป็นแห่งแรก
การประชุมในวันที่ 30 มีนาคม ณ ศาลากลางจังหวัดสระแก้วเพื่อระดมความคิดในการจัดตั้ง “ปูทะเลย์ มหาวิชชาลัย” จะเป็น “มิติใหม่” ของการศึกษาไทย และเป็นประตูสู่ “ทางรอด” ที่แท้จริงของสังคมไทย ที่ต้องการแรงสนับสนุนจากคนทั้งประเทศ