9 ฐานเรียนรู้
ความรู้ที่น่าสนใจ (Documents on web)
ติดต่อเรา
มูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ
เลขที่ ๑๑๔ ซอย บี ๑๒ หมู่บ้านสัมมากร สะพานสูง กรุงเทพฯ ๑๐๒๔๐
สำนักงาน ๐๒-๗๒๙๔๔๕๖ (แผนที่)
ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติ มาบเอื้อง 038-198643 (แผนที่)
User login
ลิงค์เครือข่าย
ตามรอย “พ่อ” 3
ตามรอย “พ่อ” 3
เมื่อกล่าวถึงปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง สิ่งที่ต้องย้ำเน้นและถือว่าเป็นหัวใจของปรัชญานี้เลยก็ว่าได้คือ “ความรู้” และ “คุณธรรม” ที่มีอยู่ใน “คน” และ ใน”สังคม” ซึ่งจะเป็นกลจักรสำคัญในการขับเคลื่อนนำพาเศรษฐกิจและประเทศให้อยู่อย่างมั่นคงยั่งยืน และมีศักดิ์ศรี ดูเหมือนว่าเราต้องมาทบทวนถึงวิธีการ “ให้” และการ “สร้าง” ความรู้ที่มีอยู่ทั้ง “ในระบบ” และ “นอกระบบ” การศึกษากันใหม่
คงไม่มีใครปฏิเสธได้ว่า ผลผลิตของระบบการศึกษาปัจจุบันที่เดินตามรอยฝรั่งได้สร้างให้เรา “ต้องพึ่งพา” คนอื่นตลอดเวลา นอกจากจะทำให้เราลืม “ราก” ของประเทศและวัฒนธรรมของเราแล้ว เรายังกลายเป็นคนที่ “หมดสภาพ” ไม่สามารถพึ่งตนเองเลย เอาง่าย ๆ หากวันนี้ประเทศไทยอยู่ในภาวะ “สงคราม” ไม่มี “น้ำมัน” ให้ใช้ เราคงอยู่ในสภาพเหมือนคนเป็น “อัมพาต” เพราะเราไม่มีแหล่งผลิตพลังงานสำรอง แผ่นดินที่เคยอุดมสมบูรณ์ ตอนนี้ถูกพิษของ “เคมี” จนแทบไม่เหลือซากของความสมบูรณ์อีกต่อไป เวลาเกิด “วิกฤติ” อะไร เราแทบต้องหันไปหา ”ตำราฝรั่ง” หรือ ”จ้างฝรั่ง” ให้มาแก้ปัญหาของคนไทย คิดแล้วก็น่าอนาถนัก คงถึงเวลาที่ต้องทบทวนว่า “ความรู้” ที่สอนกันอยู่ทั้ง “ในระบบ” และ “นอกระบบ” นี้ทำไมถึงนำพาประเทศไปในทิศทางที่จะ “ลงเหว” ประเทศไทยเคยเป็นแชมป์เกษตรกรรม เป็นแหล่ง “อาหาร” และ ”ยา” ของโลก เป็นแหล่งส่งออกอันดับหนึ่งของผลิตภัณฑ์จาก “ป่า” ทำไมวันนี้เราถึงสูญเสียแชมป์นั้นไปและต้อง พึ่ง “ยา” จากต่างชาติ สูญเสียเงินเป็นหมื่น เป็นแสนล้านบาท แถมยังถูกเขาหลอกเพราะยาหลายประเภทเป็นยา “ต้องห้าม” ที่คนในประเทศของเขาไม่กินกันแล้ว แต่คนไทยยอมเสียเงินซื้อมากิน
ฉบับที่แล้วได้พูดถึงกระบวนการขับเคลื่อน “องค์ความรู้ทฤษฏีใหม่” ของโรงเรียน “เด็กในหลวง” วชิราวุธวิทยาลัย ในการน้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาแปรเป็นภาคปฏิบัติ ภายใต้ขบวนการที่เรียกว่า VC-SEM (Vajiravudh College Sufficiency Economy Movement) โดยเริ่มต้นจากแนวคิดที่ต้องการพึ่งตนเอง นำไปสู่การสร้าง ฐานเรียนรู้เพื่อการพึ่งตนเอง 15 ฐาน ฐานหนึ่งที่สำคัญที่อยากจะกล่าวเพิ่มเติมในที่นีคือ “ฐานวิชาการเพื่อการพัฒนาหลักสูตร” โจทย์เริ่มต้นที่ว่า โรงเรียน “เด็กในหลวง” ต้องการให้ “เด็กในหลวง” ในทศวรรษนี้มีบุคลิก ความรู้ ความสามารถ และจิตวิญญาณเป็นอย่างไร หากถือหลัก “ศีลเด่น เป็นงาน ชาญวิชา” ก็ต้องปฏิวัติตำรากันใหม่หมด และที่สำคัญ ต้องไม่ “ท่องแค่ตำรา” อีกต่อไป แต่ต้องให้เกิดผลในทางปฏิบัติที่เห็นได้ในชีวิตประจำวัน
ขอปรบมือให้กับ โรงเรียน “เด็กในหลวง” ที่ตัดสินใจเปลี่ยนที่ดิน 35 ไร่ บนเขาใหญ่ที่ความตั้งใจเดิมจะทำสนามกอล์ฟ มาเป็น “ศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง” ให้เป็นที่ฝึกภาคสนาม “ชีวิตเศรษฐกิจพอเพียง” ให้กับนักเรียนของตนเอง อย่างนี้สิ ถึงจะได้ชื่อว่าเป็น “เด็กในหลวง” อย่างแท้จริง อีกไม่นาน “เด็กในหลวง” ทุกคนจะกลับมารู้จัก “ราก” ที่ถูกลืมมานานของตนเอง จะรู้จักกิน “ข้าวกล้องไทย” แทนการกิน “แม็ค” กิน “น้ำฝาง” แทนการกิน “โค๊ก” ใช้ “แชมพูว่านหางจระเข้” แทน “ซัลซิล” เวลาไม่สบายก็เรียกหา “ฟ้าทลายโจร “ แทน “พาราเซตามอล”
นี่ไม่ได้หมายความว่าจะปลุกความเป็น “ชาตินิยม” แต่เราต้อง ”รู้จักตนเอง” ก่อนที่เราจะไปรู้จักคนอื่น การรู้จักตนเอง นำไปสู่ความสามารถในการ พึ่งตนเอง ซึ่งเป็น “คุณธรรม” ขั้นพื้นฐาน ของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง