9 ฐานเรียนรู้
ความรู้ที่น่าสนใจ (Documents on web)
ติดต่อเรา
มูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ
เลขที่ ๑๑๔ ซอย บี ๑๒ หมู่บ้านสัมมากร สะพานสูง กรุงเทพฯ ๑๐๒๔๐
สำนักงาน ๐๒-๗๒๙๔๔๕๖ (แผนที่)
ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติ มาบเอื้อง 038-198643 (แผนที่)
User login
ลิงค์เครือข่าย
ศัตรู 4 ตัวที่น่ากลัวกว่า "ทักษิณ"
ศัตรู 4 ตัวที่น่ากลัวกว่า “ทักษิณ”
เมื่อพูดถึงความพอเพียงของประเทศ ในขณะนี้ คงไม่มีใครเถียงว่าเราไม่เพียงแต่อยู่อย่าง “ไม่พอเพียง” แต่เรากำลังจะเผชิญกับ“ความขาดแคลน”อย่างใหญ่หลวง อยากถามพี่ ๆ ครม. ว่า ศัตรู 4 ตัวที่น่ากลัวกว่า คนที่พี่ ๆ โค่นเขาลงไปนั้น รู้ไหมเขาเป็นใคร “ภัยธรรมชาติอย่างน้ำท่วม ฝนแล้ง” “โรคระบาด” “ข้าวยากหมากแพง” และ “วิกฤตพลังงาน” ข้าศึกที่กำลังจู่โจมแบบไม่ยอมให้เราตั้งตัว แถมยังกระหน่ำตีระลอกแล้วระลอกเล่า อยากถามพี่ ๆ ครม.ว่า ท่านเตรียมการอะไรหรือยัง ท่านมีแผนรับมือกับข้าศึก 4 ตัวนี้อย่างไร อย่างกรณีน้ำท่วมใหญ่ปีนี้ ท่านทราบมาก่อนไหมว่าจะเกิด
เมื่อเกิดขึ้นแล้ว มีแผนรับมืออย่างไร และหลังจากที่เหตุการณ์เข้าสู่ปกติ ปัญหาที่จะตามมามีอะไรบ้าง โรคระบาดที่จะตามมามีอะไร พืชพันธุ์ธัญญาหารที่จะขาดแคลนจะทำยังไง เกษตรกรที่ที่ทำกินเสียหาย
นาข้าวที่เสียหายจะเอายังไง ไม่อยากจะบอกพี่ ๆ ครม.ให้เสียกำลังใจ ความรู้สึกของน้องตอนนี้เหมือน “ข้าศึกเข้ามาประชิดบ้านแล้ว เราเพิ่งจะมาหัดยิงปืน” กัน
อยากถามว่าทั้งชีวิตของเรา เราเคยเห็นเหตุการณ์ที่จังหวัดเดียวกันอย่างเช่นที่ สุพรรณบุรี ที่ประสบทั้งน้ำท่วมและภัยแล้งในเวลาเดียวกันหรือเปล่า เหตุการณ์อย่างนี้ ธรรมชาติกำลังเตือนอะไรเรา ว่าที่จริงเรามีตัวอย่างและองค์ความรู้อยู่แล้ว แต่เราไม่เคยสนใจใยดี เอามาศึกษาและปฏิบัติอย่างจริงจัง พระเจ้าอยู่หัวของเรา เคยทำให้เป็นตัวอย่างความสำเร็จของการแก้ปัญหาน้ำท่วม ฝนแล้ง น้ำท่วมคราวนี้ นอกจากจะยอมให้ที่ส่วนพระองค์เป็น “แก้มลิง” รับน้ำเสียเองเพื่อปกป้องเมืองหลวงแล้ว พระองค์ท่านยังสายพระเนตรยาวไกล เห็นถึงปัญหาที่จะตามมา ระดมสรรพกำลังของเครือข่ายประชาชน ให้เตรียมพันธุ์ข้าว เตรียมแจกจ่ายให้กับชาวนาที่เดือดร้อนหลังน้ำลด
องค์ความรู้ที่พระองค์ท่านเคยพระราชทานให้ไว้ในการรับมือกับปัญหาน้ำท่วม และภัยแล้ง มีสำเร็จรูปให้ไว้แล้ว เหมือนมาม่าฉีกซอง แค่เทน้ำร้อนก็กินได้เลย ตัวอย่างเช่น รัฐมีหน่วยงานที่รู้อยู่แล้วว่าช่วงไหนฝนจะมา น้ำจะหลาก ฝนจะเข้ามาในพื้นที่ไหน เวลาฝนตก น้ำมาก ก็ต้องมีช่องทางให้น้ำผ่าน หรือทางระบายน้ำหลากที่เรียกว่า Flood way มีพื้นที่ที่จะรับน้ำ “แก้มลิง” และมีระบบที่จะผลักดันน้ำ โดยอาศัยแรงโน้มถ่วง gravity และเทคโนโลยี เช่น ปั๊มน้ำ เข้ามาช่วย แต่ทั้งหมดนี้ต้องมีการวางแผนล่วงหน้าเป็นปี ๆ หากต้องการแก้ปัญหาแบบเบ็ดเสร็จ ไม่ใช่แก้ปัญหากันเฉพาะหน้าเหมือนที่เป็นอยู่ตอนนี้ องค์ความรู้นี้มีอยู่แล้ว แต่ไฉนเลยไม่มีใครสนใจ
บ้านเมืองเรานอกจากไม่มี “ป่า” ที่สามารถดูดซับน้ำแล้ว เรายังช่วยกันทั้งภาครัฐและเอกชนในการ “ปิดทางน้ำผ่าน” โดยการ ถมคลอง สร้างบ้านเรือน สร้างถนน ทางรถไฟ สร้างโรงงาน ฯลฯ ปิดทางน้ำที่ ๆ เหมาะจะเป็น “แก้มลิง” เราก็ “แปลงเมือง” แทน ก็สมแล้วที่ “น้ำ” จะขออยู่กับเรานานๆ แรมเดือนแบบไม่อยากลาจาก จนหลายคนเกลียด “น้ำ” ขอผูกคอตายลาไปก่อนหลังน้ำลด
อีกประเดี๋ยวเราก็จะเจอ “ภัยแล้ง” ตามมาด้วย “โรคระบาด ไข้หวัดนก” เป็นวงจรอุบาทว์คู่กับสังคมไทย ดูเหมือนประเทศไทยที่เคยร่มเย็นเป็นสุข ปราศจากภัยพิบัติ ภัยธรรมชาติร้ายแรง ถึงเวลาที่ต้องแสวงหาองค์ความรู้ชุดใหม่อย่างเป็นระบบเสียแล้ว องค์ความรู้ชุดนี้เรียกว่า “Crisis Management” หรือ “การจัดการกับวิกฤต” ที่ลำพังภาครัฐอย่างเดียวไม่สามารถจะรับมือได้เลย ต้องอาศัย 5 ภาคีมา “ประกอบร่าง” 5 ภาคีที่ว่านี้ คือ
ภาคประชาชน ภาคราชการ ภาคเอกชน ภาควิชาการ และ เอ็นจีโอ คำถามอยู่ที่ว่า รัฐบาลรู้หรือไม่ว่าจะ “ประกอบร่าง” จาก 5 ส่วนนี้อย่างไร ถึงรู้แล้ว ร่างที่ประกอบขึ้นมาจะพิกลพิการนะสิแล้ว “แผลงฤทธิ์” ไม่ออก